ซีอีโอศุภชัย เจียรวนนท์ หนุนความร่วมมือด้านเอไอ-คลาวด์-ทุนมนุษย์ ตัวพลิกธุรกิจ สร้างโอกาสการเติบโตเศรษฐกิจดิจิทัลในระดับภูมิภาคอาเซียน

01 August 2024

1 สิงหาคม 2567 – คุณศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) เสนอวิสัยทัศน์ ”โอกาสและความท้าทายของบริษัทข้ามชาติในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล“ (Opportunities and Challenges for Multinational Enterprises in the Digital Economy Era) บนเวทีการประชุมสุดยอดความร่วมมือระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในการสร้างเศรษฐกิจดิจิทัล 2024 China Mobile Southeast Asia, Regional Cooperation Conference: “Connecting Through Data, Innovating the Future” จัดโดย China Mobile โดย คุณศุภชัย เผยว่า โลกกำลังเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจ 5.0 ที่ขับเคลื่อนด้วยเอไอ และการเชื่อมต่อดิจิทัลและให้ความสำคัญกับบิ๊กดาต้าเพิ่มมากขึ้น เป็นโอกาสทางธุรกิจในการนำเทคโนโลยีขั้นสูงเอไอมาปรับใช้ทำความเข้าใจลูกค้าและการทำธุรกิจให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อปรับตัวให้เท่าทันรับการแข่งขัน เพราะในตอนนี้บริษัทข้ามชาติกำลังเผชิญกับความท้าทายใน 3 ด้านสำคัญที่เรียกว่า 3D คือ 1.Deglobalization ภูมิทัศน์การเมืองโลกที่เปลี่ยนแปลงไป มีแบ่งขั้วอำนาจทางการเมืองเป็นหลายขั้ว แต่ละประเทศต่างออกกฎหมายและระเบียบนำเข้าซึ่งเป็นตัวบังคับให้ธุรกิจจะต้องปรับตัว 2.Digitalization โลกเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล จำเป็นต้องให้ความสำคัญในการลงทุนในเอไอและดาต้าที่ในตอนนี้กลายเป็นเครื่องมือสำคัญในหลายอุตสาหกรรม และ 3. Decarbonization การลดการปล่อยคาร์บอน ซึ่งทุกองค์กรต้องมีส่วนร่วมในการป้องกันวิกฤตการณ์สภาพอากาศเพื่อบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050 โดยเครือซีก็ได้ออกนโยบายและหาแนวทางการแก้ปัญหาดังกล่าว พร้อมกับการสนับสนุนให้ภูมิภาคมีการลงทุนในเทคโนโลยีเอไอและพลังงานสะอาดมากขึ้น

คุณศุภชัย มองว่า เศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาคของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีศักยภาพที่จะเติบโตถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐของมูลค่าสินค้ารวมภายในปี 2030 หากเอาชนะความท้าทายข้างต้นได้ ไปพร้อมกับต้องให้ความสำคัญในเรื่องของ “speed” และ “scale” โดยการประชุมความร่วมมือในครั้งนี้โดย China Mobile ในฐานะผู้ให้บริการชั้นนำของโลกในการติดตั้ง 5G จะเป็นก้าวสำคัญในการสร้างความร่วมมือให้เกิดเศรษฐกิจดิจิทัลระดับภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างความร่วมมือ “ด้านเอไอและคลาวด์” รวมไปถึงการให้ความสำคัญในเรื่องของอธิปไตยของข้อมูล (data sovereignty) ทุกองค์กรจะต้องมีอำนาจอิสระในการจัดการและควบคุมข้อมูลของตนเอง ซึ่งเป็นเรื่องที่ควรจะต้องมีการสร้างความร่วมมือให้เกิดขึ้นในภูมิภาคนี้ ขณะเดียวกันควรสนับสนุนให้เกิดศูนย์กิกะดาต้า และการจ้างงานในระบบ อย่างไรก็ตามเครือซีพีมีการดำเนินธุรกิจใน 22 ประเทศ มีพนักงานกว่า 500,000 คนทั่วโลก ได้ให้ความสำคัญกับการนำนวัตกรรมเทคโนโลยีและแนวทางการดำเนินธุรกิจที่ยั่งยืนมาปรับใช้ในทุกกลุ่มธุรกิจทั่วโลก ทั้งนี้เครือฯ พร้อมที่จะร่วมมือกับทุกภาคส่วน ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลระดับภูมิภาคและระดับโลก

ทั้งนี้ไม่เพียงแต่การสร้างเศรษฐกิจดิจิทัลในกลุ่มอุตสาหกรรมเพียงเท่านั้น เราควรสร้างความร่วมมือในการลดช่องว่างทางดิจิทัลด้วย ไม่ว่าจะเป็นการปรับกลยุทธ์และการดำเนินการทางธุรกิจอย่างมีส่วนร่วม ทำให้เกิด e-Government และการผลักดันให้ผู้คนเข้าถึงบริการทางการเงิน ทั้งนี้จากรายงานของ Temasek พบว่าในอาเซียนมีประชากรมากกว่า 70% ไม่มีบัญชีธนาคารหรือไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินพื้นฐาน และในส่วนของวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดเล็ก หรือ MSMEs มากกว่า 60% ไม่สามารถกู้ยืมเงินได้ จึงเป็นโอกาสของธุรกิจฟินเทคไปพร้อมกับการลดความเหลื่อมล้ำในภูมิภาคได้ โดยยกกรณี True Money แพลตฟอร์มดิจิทัลของเครือซีพี ที่ให้บริการในการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ และบริการทางการเงิน ซึ่งมีผู้ใช้งานกว่า 50 ล้านคน โดยแพลตฟอร์มดังกล่าวทำให้คนในประเทศสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้ทุกพื้นที่

ซีอีโอเครือซีพี เน้นย้ำว่า การจะสร้างเศรษฐกิจดิจิทัลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริษัทต่างๆ จะอยู่รอดได้ต้องให้ความสำคัญในการพัฒนา “ทุนมนุษย์” พร้อมทั้งเสนอโมเดล SI Transformation หรือ การสร้างสังคมแห่งภูมิปัญญาที่ยั่งยืน ผ่านการให้ความรู้กับคนรุ่นต่อไป เน้นไปที่การสร้างทักษะด้านเอไอควบคู่ไปกับการปลูกฝังจริยธรรมและมายเซตในการสร้างความยั่งยืนให้กับโลกใบนี้ ดังนั้น บทบาทของครูจะต้องปรับเปลี่ยนจากผู้สอนไปเป็น “โค้ช” หรือผู้นำกระบวนการเรียนรู้ (Facilitator) ต้องสอนให้เด็กเป็น “นักทดลอง” มีกรอบความคิดใหม่ เรียนรู้จากรปะสบการณ์ ซึ่งเป็นการปลุกฝังหลักความเป็นผู้ประกอบการไปในตัว จะทำให้พวกเขาเกิดการปรับตัวให้อยู่รอดในโลกที่ท้าทายตอนนี้

“เราจำเป็นต้องปลูกฝังเมล็ดพันธุ์แห่งการเป็นผู้ประกอบการให้กับคนรุ่นต่อไป เพื่อเตรียมความพร้อมในการสร้างกำลังคนในอนาคตให้ก้าวข้ามความท้าทายและคว้าโอกาสต่างๆ ในเศรษฐกิจ 5.0 ขณะเดียวกันต้องสร้างความร่วมมือ ไปพร้อมกับการหาแนวทางลดช่องทางดิจิทัล เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” คุณศุภชัย กล่าว

สำหรับงาน 2024 China Mobile Southeast Asia, Regional Cooperation Conference: “Connecting Through Data, Innovating the Future” เป็นการประชุมสุดยอดความร่วมมือจากหลายภาคส่วนในการนำเทคโนโลยี 5G AI และดาต้ามาขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ทั้ง S-Curve และ New S-Curve เพื่อสร้างเศรษฐกิจดิจิทัลในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีบุคคลสำคัญเข้าร่วมแลกเปลี่ยนความเห็น อาทิ นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นายหาน จื้อเฉียง เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย นางจาง เนี่ยนฉุน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสื่อสารและมัลติมีเดีย ประเทศมาเลเซีย นายเขียววีสุข โสลาพอม ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเทคโนโลยีและการสื่อสาร สาธารณรัฐประชาชนลาว ดร. เกา ทงชิง รองประธานบริหาร China Mobile Communications Group Co.,Ltd. และนายหวัง ฮวา Chairman and CEO of China Mobile International Corporation เป็นต้น