เครือซีพีประกาศเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน พร้อมออกรายงานความยั่งยืน ประจำปี 2559 เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกในทุกมิติทั้งเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม ขณะที่บริษัทหลักทั้ง CPF, CPALL และ ทรู ได้รับการยอมรับจากองค์กรความยั่งยืนระดับโลก
นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ เครือซีพี เปิดเผยว่าปีนี้ถือเป็นย่างก้าวที่สำคัญในการขับเคลื่อนด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนของเครือซีพี ซึ่งเกิดขึ้นจากการมุ่งมั่นและพัฒนาด้านความยั่งยืนอย่างต่อเนื่องของเครือซีพีและบริษัทในเครือฯทั้งหมดโดยเฉพาะบริษัทที่อยู่ในกลุ่มธุรกิจหลักของเครือฯจึงทำให้องค์กรกรด้านความยั่งยืนในระดับโลกต่างให้การยอมรับ โดยในเดือนกันยายนที่ผ่านมา CPF, CPALL และ TRUE ซึ่งเป็น 3 บริษัทหลักในเครือฯได้รับคัดเลือกเป็นสมาชิก DJSI หรือ กลุ่มดัชนีความยั่งยืนของดาวโจนส์ Dow Jones Sustainability Indices ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดความยั่งยืนระดับโลก นอกจากนี้สภาธุรกิจโลกเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ World Business Council on Sustainable Development (WBCSD) ซึ่งเป็นองค์กรเพื่อส่งเสริมการทำธุรกิจที่ยั่งยืน ได้รายงานผลคะแนนความยั่งยืนของบริษัทต่าง ๆ ที่เป็นสมาชิกโดยพบว่าเครือเจริญโภคภัณฑ์ได้คะแนนถึง 72.2% อยู่ในเกณฑ์ใกล้เคียงกับคะแนนสูงสุด 10 อันดับแรกที่มีคะแนนอยู่ระหว่าง 78-82% รวมถึงการที่ CPF และ TRUE ได้รับการคัดเลือกเป็นสมาชิกดัชนีความความยั่งยืน FTSE4Good Emerging Index จัดอันดับโดยฟุตซี่ รัสเซล (FTSE Russell) ตอกย้ำแนวทางความยั่งยืนของเครือซีพีสอดคล้องกับมาตรฐานระดับโลก และล่าสุดเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมาโครงการ CGR 2560 ซึ่งจัดโดยสถาบันกรรมการบริษัทไทย IOD ร่วมกับตลาดหลักทรัพย์ฯ พบว่า CPF และ TRUE ได้คะแนน 5 ดาว ส่วน MAKRO ได้คะแนน 4 ดาว
ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวต่อไปว่าเครือซีพีมีเจตนารมณ์แน่วแน่ที่จะเป็นส่วนหนึ่งของการผลักดันการพัฒนาอย่างยั่งยืนในชุมชนและสังคมทั่วทุกแห่งที่เข้าไปดำเนินธุรกิจ ด้วยวิสัยทัศน์ในการสร้าง อาหารคน อาหารสมอง สร้างโอกาสในการเข้าถึงคุณค่า เพื่อสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีสำหรับทุกคน โดยมีความมุ่งมั่นที่จะสร้างธุรกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน โดยในปีนี้เครือซีพีได้จัดทำรายงานความยั่งยืนขึ้นเป็นครั้งแรก ซึ่งในรายงานฉบับนี้ได้ประกาศเป้าหมายและตัวชี้วัดการพัฒนาที่ยั่งยืน พ.ศ. 2563 (CP Group Sustainability Goals 2020)เพื่อให้ทุกกลุ่มธุรกิจในเครือฯทั่วโลกดำเนินการเพื่อบรรลุ 12 เป้าหมายแห่งความยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ หรือ SDGs โดยเชื่อมั่นว่าการขับเคลื่อนธุรกิจอย่างยั่งยืนของเครือซีพีจะเป็นแรงสำคัญในการก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกทั้งต่อการดำเนินธุรกิจของตนเอง ประเทศไทย และสังคมโลก สำหรับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ทุกกลุ่มธุรกิจในเครือฯรวม 13 กลุ่มทั่วโลกจะต้องดำเนินการให้สำเร็จในปี พ.ศ.2563 นั้นจะเป็นไปภายใต้ยุทธศาสตร์ Heart-Health-Home คือ 1.Heart ความมุ่งมั่นในการทำธุรกิจด้วยใจที่ยั่งยืน ซึ่งประกอบด้วยเป้าหมายและตัวชี้วัด 4 ด้าน ได้แก่ ด้านการกำกับดูแลกิจการ ด้านสิทธิมนุษยชน ด้านการพัฒนาผู้นำและทรัพยากรบุคคล ด้านการสร้างความผูกพันกับผู้มีส่วนได้เสีย 2.Health ความมุ่งมั่นในการสร้างสังคมที่ยั่งยืนประกอบด้วยเป้าหมายและตัวชี้วัด 4 ด้าน ได้แก่ ด้านคุณค่าทางสังคม ด้านสุขภาพและสุขภาวะที่ดี ด้านการศึกษา ด้านการบริหารจัดการนวัตกรรม 3.Home ความมุ่งมั่นเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน ประกอบด้วยเป้าหมายและตัวชี้วัด 4 ด้าน ได้แก่ ด้านการจัดการเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ด้านการดูแลรักษาทรัพยากรน้ำ ด้านการปกป้องระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ ด้านการจัดการห่วงโซ่อุปทานอย่างรับผิดชอบ
นายศุภชัย กล่าวต่อไปว่า ขอขอบคุณเพื่อนพนักงานและผู้บริหารทุกคน รวมถึงผู้มีส่วนได้เสียจากทุกภาคส่วนที่ได้ช่วยกันขับเคลื่อนนโยบายการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนทุกมิติของเครือฯทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งจะทำให้เครือซีพีมีส่วนร่วมในการการพัฒนาชุมชน สังคม ประเทศ และโลก อย่างยั่งยืนต่อไป
บนเส้นทางความยั่งยืนของ CPF, CPALLL และ TRUE
บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร :
นายสุขสันต์ เจียมใจสว่างฤกษ์ ประธานคณะผู้บริหาร ธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและกรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ กล่าวว่า นอกเหนือจากการดำเนินธุรกิจกิจตามปรัชญา 3 ประโยชน์แล้ว ซีพีเอฟยังคงยึดหลักการดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบตามทิศทางกลยุทธ์ 3 เสาหลักสู่ความยั่งยืน ประกอบด้วยอาหารมั่นคง สังคมพึ่งตน และดินน้ำป่าคงอยู่ เพื่อยกระดับคุณภาพความปลอดภัยทางอาหารตลอดกระบวนการผลิต ส่งเสริมการเข้าถึงอาหาร พัฒนาคู่ค้าธุรกิจให้เติบโตไปด้วยกัน ส่งเสริมคุณภาพชีวิตของชุมชน รวมไปถึงบรรเทาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และปกป้องความหลายหลายทางชีวภาพ สอดคล้องกับนโยบายความยั่งยืนเครือเจริญโภคภัณฑ์ภายใต้กรอบ 3Hs (Heart Health Home)
“การได้รับการยอมรับและยกย่องจากองค์กรต่างๆ ทั้งในประเทศและระดับสากล ไม่ว่าจะเป็น DJSI, FTSE4 Good , CDP หรือตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง สะท้อนให้เห็นถึงความไม่หยุดนิ่งของซีพีเอฟในการพัฒนาธุรกิจให้เติบโตอย่างมั่นคง ด้วยความยั่งยืนตามมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และหลักธรรมภิบาล” นายสุขสันต์กล่าว
บมจ.ซีพี ออลล์ :
นายธานินทร์ บูรณมานิต กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้ก่อตั้งร้านเซเว่น อีเลฟเว่นในประเทศไทย เปิดเผยว่า รู้สึกภาคภูมิใจที่บริษัทฯ ได้รับคัดเลือกให้เป็นหนึ่งในบริษัทชั้นนำของดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (DJSI) ในปี 2017 ซึ่งเป็นปีแรกที่บริษัทตอบรับเข้าร่วมกระบวนการประเมินความยั่งยืนองค์กรในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets) หมวดอุตสาหกรรม ธุรกิจค้าปลีกอาหารและสินค้าอุปโภคบริโภค (Food & Staples Retailing)
การได้รับการยอมรับนี้น่าจะเกิดจากปรัชญาองค์กรที่ว่า “เราปรารถนารอยยิ้มจากลูกค้า ด้วยทีมงานที่มีความสุข” ที่นายก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทได้วางแนวทางไว้ตั้งแต่ปีแรกๆ ที่เข้ามาบริหารงานโดยมีนโยบายเอาใจใส่และให้ความสำคัญกับลูกค้า มุ่งมั่นพัฒนาบุคลากรอย่างต่อเนื่องและทำธุรกิจโดยคำนึงถึงสังคมและชุมชน นับเป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์การบริหารจัดการองค์กรของซีพี ออลล์ ซึ่งต้องขอขอบคุณเพื่อนพนักงานทุกระดับที่ทุ่มเทแรงกาย แรงใจ และความสามารถให้กับบริษัทเสมอมา โดยซีพี ออลล์ ได้รับการยอมรับให้เป็นบริษัทชั้นนำในกลุ่มดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (Dow Jones Sustainability Indices หรือ DJSI) โดยซีพี ออลล์ ได้รับคะแนนสูงสุด 3 หมวด ได้แก่ 1.หมวดการบริหารลูกค้าสัมพันธ์ (Customer Relationship Management) ให้ลูกค้าได้รับสินค้าและบริการที่มีคุณภาพและตรงตามความต้องการจากความพิถีพิถันคัดสรรสิ่งที่ดี มีการวิจัยและพัฒนาที่คำนึงถึง คุณค่าทางโภชนาการและดีต่อสุขภาพ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับคนไทย พร้อมสร้างความสุขและความรู้สึกปลอดภัย 2. หมวดสาระสำคัญของการกำกับดูแลธุรกิจ (Materiality) คือมีการพัฒนาสินค้ามุ่งเน้นสุขภาพ และมุ่งส่งเสริมผู้ประกอบการรายย่อย (SME) พร้อมมียุทธศาสตร์ “7 go Green” สร้างสรรค์สิ่งแวดล้อมที่ดีแก่ชุมชน และสร้างค่านิยมใหม่ด้วยการปลูกฝังจิตสำนึกให้คนไทยลดใช้ถุงพลาสติกอย่างจริงจังและต่อเนื่องมากว่า 10 ปี และหมวดที่ 3 คือ หมวดการพัฒนาทุนมนุษย์ (Human Capital Development) ซีพี ออลล์ ได้สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับคนในสังคมเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ ด้วยการจ้างพนักงานทั่วทุกภูมิภาคกว่า 150,000 คน มากที่สุดในประเทศไทยและดูแลรักษา พัฒนาให้พนักงานมีความรู้ ความสามารถอยู่เสมอเห็นได้จากในปี 2559 เพียงปีเดียว บริษัทได้จัดอบรมสัมมนาให้กับพนักงานไปแล้วเกือบ 100,000 คน ผ่านหลักสูตรอบรมเชิงวิชาชีพกว่า 210 หลักสูตร ซึ่งพนักงานเหล่านี้ คือพลังสำคัญที่จะนำองค์กรไปสู่ความสำเร็จอย่างยั่งยืนต่อไป
บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น :
นายวิเชาวน์ รักพงษ์ไพโรจน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) ด้านการพาณิชย์ และ นายอติรุฒม์ โตทวีแสนสุข กรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) ด้านปฏิบัติการ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า การดำเนินธุรกิจของกลุ่มทรู นอกจากจะสร้างผลกำไรหรือมีผลประกอบการที่ดีแล้ว ยังคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมอีกด้วย การผ่านการประเมินด้านความยั่งยืน ได้รับคัดเลือกเป็นสมาชิก DJSI (Dow Jones Sustainability Indices) และ FTSE4 Good Emerging Index ประจำปี 2560 ในหมวดธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม ในฐานะหนึ่งในไม่กี่องค์กรธุรกิจโทรคมนาคมจากทั่วโลกและเป็นเพียงหนึ่งเดียวจากประเทศไทย ที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นสมาชิกทั้ง 2 ดัชนีความยั่งยืนในปีนี้ เป็นผลมาจากการนำศักยภาพเทคโนโลยีและนวัตกรรมร่วมสร้างคุณค่าแก่สังคม ดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบ ซึ่งได้รับความร่วมแรงร่วมใจจากทุกภาคส่วนในองค์กร ดำเนินงานตามแนวทางและกระบวนการทำงานที่คำนึงถึงหลักธรรมาภิบาล ความรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมทั้งการผสานแนวคิดด้านความยั่งยืน เข้าเป็นไปส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมองค์กร ทั้งนี้ กลุ่มทรู ได้กำหนดกลยุทธ์ด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่จะมุ่งมั่นนำเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรม สร้างสรรค์คุณค่าเพื่อการอยู่ร่วมกันในสังคม สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยนำเป้าหมายด้านความยั่งยืนของเครือเจริญโภคภัณฑ์ ใน 3 ด้าน คือ Heart (ด้านเศรษฐกิจ) Health (ด้านสังคม) และ Home (ด้านสิ่งแวดล้อม) มากำหนดเป็นเป้าหมายการดำเนินงานด้านความยั่งยืนของบริษัท ซึ่งเป็นเป้าหมายภายในปี พ.ศ. 2563 ด้วย