พระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา เสด็จฯ เปิดศูนย์เรียนรู้ด้านเกษตรอุตสาหกรรมเรือนจำเขาพริก ณ ทัณฑสถานเกษตรอุตสาหกรรมเขาพริก อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา
16 มิถุนายน 2561 – พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา เสด็จฯ ไปทรงเปิดศูนย์เรียนรู้ด้านเกษตรอุตสาหกรรมเรือนจำเขาพริก ณ ทัณฑสถานเกษตรอุตสาหกรรมเขาพริก อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา โดยมี พลเอกไพบูลย์ คุ้มฉายา องคมนตรี พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ผู้บริหารกระทรวงยุติธรรม และผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ นำโดยท่านประธานอาวุโสธนินท์ เจียรวนนท์ คุณศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ เฝ้ารับเสด็จ
ศูนย์เรียนรู้ด้านเกษตรอุตสาหกรรมเรือนจำเขาพริกถือเป็นศูนย์เรียนรู้แห่งแรกในประเทศไทยที่เป็นนวัตกรรมของความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนบนรูปแบบ Social Enterprise ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างกองทุนกำลังใจในพระดำริฯ กรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม และบริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด โดยพระเจ้าหลานเธอฯ ได้มีพระดำริให้ผสมผสานระหว่างการเกษตรที่ทันสมัยแต่อยู่บนพื้นฐานของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเข้ามาเป็นแนวทางในการดำเนินงาน โดยมีวัตถุประสงค์ในการจัดทำโครงการศูนย์เรียนรู้ด้านเกษตรอุตสาหกรรมเรือนจำเขาพริก ดังนี้
1. เพื่อสร้างศูนย์ฝึกอบรมด้านเกษตรอุตสาหกรรม สำหรับผู้ต้องขังที่ใกล้พ้นโทษ สามารถนำไปประกอบอาชีพในอนาคตได้
2. เปิดให้ผู้สนใจทั่วไปทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ เข้าเรียนรู้การทำเกษตรแบบ 1.0 ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และการทำเกษตรอุตสาหกรรมแบบ 4.0 ที่ใช้เทคโนโลยีทันสมัย
ศูนย์เรียนรู้ด้านเกษตรอุตสาหกรรมเรือนจำเขาพริก ตั้งอยู่บนพื้นที่ 91 ไร่ โดยได้จัดทำโครงการศูนย์เรียนรู้การเลี้ยงไก่ไข่และสุกรขุน ประกอบด้วย ฟาร์มเลี้ยงไก่ 100,000 ตัว ฟาร์มเลี้ยงสุกรขุน 2,400 ตัว และระบบแก๊สชีวภาพ นอกจากนี้ ยังมีการปลูกพืชเพื่อสร้างรายได้ อาทิ พืชเศรษฐกิจคือทุเรียน และพืชเสริมคือกล้วยน้ำว้า ปัจจุบันโครงการมีความคืบหน้าไปมาก โดยโรงเลี้ยงสุกรขุนได้เลี้ยงสุกรและนำไปจำหน่ายแล้ว 1 รุ่น จำนวน 2,248 ตัว และโรงเลี้ยงไก่ไข่ สามารถผลิตไข่ไก่ออกไปจำหน่ายได้แล้ว 24,435,480 ฟอง และสามารถอบรมผู้ต้องขังไปแล้วราว 100 คน
ในการนี้ยังมีคณะวิทยากร และนักศึกษาหลักสูตร Executive Program on Rule of Law and Development หรือ RoLD Program โดยสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (Thailand Institute of Justice: TIJ) อาทิ ดร.รอยล จิตรดอน คุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ร่วมศึกษาดูงานในครั้งนี้ด้วย
โดยย้อนหลังไปเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2558 พระเจ้าหลานเธอฯ ได้เสด็จมาประชุมร่วมกับผู้เกี่ยวข้อง ณ บริษัทเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด เพื่อแสวงหาแนวทางในการดำเนินงานตามโครงการศูนย์เรียนรู้ฯ และต่อมาได้มีการลงพื้นที่ศึกษาดูงาน ณ เกษตรหนองหว้าและเกษตรสันติราษฎร์เพื่อแสวงหาแนวทางที่เหมาะสมสำหรับเรือนจำและผู้ต้องขัง ซึ่งต่อมาได้แนวทางที่เหมาะสมในการดำเนินงาน รวมทั้งต่อมาได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลในการดำเนินโครงการ จึงเป็นจุดเริ่มต้นของความพร้อมในการเริ่มโครงการตั้งแต่การสำรวจพื้นที่ การก่อสร้าง การนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาสนับสนุน
และต่อมาเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2559 “กองทุนกำลังใจ” ร่วมกับ กรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม และ เครือเจริญโภคภัณฑ์ จึงทำพิธีลงนามความร่วมมือ (MOU) ในการจัดตั้งและดำเนินงานศูนย์เรียนรู้ด้านเกษตรกรรมสืบเนื่องมาจากโครงการกำลังใจในพระดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ณ กระทรวงยุติธรรม โดยกระทรวงยุติธรรมได้กราบทูลเชิญพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ทรงดำรงตำแหน่งองค์ที่ปรึกษาคณะกรรมการดำเนินโครงการและเริ่มดำเนินงานตามข้อตกลงในวันดังกล่าว ซึ่งการดำเนินงานได้แบ่งออกเป็น
1. ครงการเลี้ยงสุกรขุน ความจุ 2,400 ตัว บนพื้นที่ 20 ไร่
2. โครงการเลี้ยงไก่ไข่ ความจุ 100,000 ตัว บนพื้นที่ 50 ไร่
3. โครงการสร้างระบบแก๊สชีวภาพจากมูลไก่ไข่และสุกร บนพื้นที่ 10 ไร่
4. โครงการปลูกทุเรียนพันธุ์หมอนทองจำนวน 256 ต้น กล้วยน้ำว้าพันธุ์มะลิอ่องจำนวน 1,536 ต้น บนพื้นที่ 16 ไร่
โดยการดำเนินงานในโครงการต่างๆข้างต้นมีระยะเวลา 15 ปีซึ่งจะได้รับการสนับสนุนองค์ความรู้ เทคโนโลยีที่ทันสมัย และการวางแผนทางธุรกิจจากบริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ (จำกัด) รวมทั้งการรับประกันผลผลิตจากเครือเจริญโภคภัณฑ์ ทั้งนี้เพื่อทำให้ผู้ต้องขังที่เข้าโครงการได้รับความรู้และผลตอบแทนที่จะนำไปประกอบอาชีพภายหลังพ้นโทษ รวมทั้งพัฒนาให้ทัณฑสถานเกษตรอุตสาหกรรมเขาพริกเป็นแหล่งเรียนรู้ในด้านเกษตรอุตสาหกรรมซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นแห่งแรกในประเทศไทยที่พร้อมจะเป็นพื้นที่สำหรับการศึกษาดูงานให้กับบุคคลและคณะหน่วยงานทั้งจากในและต่างประเทศที่สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล ไทยแลนด์ 4.0
ในปัจจุบัน โรงเลี้ยงสุกรขุนได้เลี้ยงสุกรและนำไปจำหน่ายแล้ว 1 รุ่น จำนวน 2,248 ตัว และเลี้ยงไก่จนกระทั่งมีไข่ไก่ออกไปจำหน่ายได้แล้ว 24,435,480 ฟอง และในส่วนของกล้วยได้มีการเก็บผลผลิตไปจำหน่ายมาแล้ว 18 เครือ รอตัดอีก 384 เครือ ต้นทุเรียนคาดว่าจะเก็บผลผลิตได้ในปี 2568
นอกจากการเป็นศูนย์เรียนรู้ด้านเกษตรอุตสาหกรรมแล้ว ยังได้มีการพัฒนาพื้นที่ของเรือนจำให้เป็นพื้นที่เรียนรู้ในการน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มาปรับใช้ในเรือนจำ ซึ่งจะทำให้บุคคลและคณะที่มาศึกษาดูงานได้ศึกษารูปแบบของการเกษตรที่ทันสมัยมีการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้เพื่อการเพิ่มผลผลิต และการเกษตรในรูปแบบของเศรษฐกิจพอเพียงที่สามารถนำไปปรับใช้ในครัวเรือนของตนเองได้ ซึ่งนับเป็นพระวิสัยทัศน์ในพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ที่ได้ประทานคำแนะนำให้เกิดรูปแบบของการเกษตร 2 แนวทางในพื้นที่เดียวกัน