ซีอีโอเครือซีพี ตอกย้ำจุดยืนก้าวสู่เป้าหมาย SDGs เดินสายเรียนรู้ประสบการณ์เวทีโลก พร้อมประกาศร่วมสนับสนุนความมั่นคงอาหารและธุรกิจโลกที่ยั่งยืน ยืนหยัดผลักดันสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย เป็นกลไกสำคัญขับเคลื่อนประเทศ
เมื่อวันที่ 26-27 กันยายน 2562 ณ มหานครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ พร้อมด้วยผู้บริหารเครือฯ ได้เข้าร่วมประชุมกับผู้นำขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations-FAO) ในโอกาสที่นาย Qu Dongyu จากจีนได้รับเลือกตั้งเป็น Director General ของ FAO ซึ่งนับเป็นการหารือกับผู้แทนภาคธุรกิจครั้งแรกหลังเข้ารับตำแหน่ง ในการนี้ นายศุภชัย ได้กล่าวต่อที่ประชุมว่า เครือเจริญโภคภัณฑ์มีความมุ่งมั่นในฐานะผู้่ผลิตอาหารและวัตถุดิบสำคัญ จะใช้ศักยภาพของทุกบริษัทในเครือในการส่งเสริมและสร้างความมั่นคงทางอาหารแก่โลก และครอบคลุมถึงเป้าหมายการทำธุรกิจอย่างยั่งยืนของเครือฯด้วย ซึ่งการประชุมครั้งนี้ มีบุคคลสำคัญที่เข้าร่วมหารือ อาทิ ศาสตราจารย์มูฮัมหมัด ยูนุส (Muhammad Yunus) ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพชาวบังคลาเทศ ที่ส่งเสริมการจัดตั้งกิจการเพื่อสังคม มร.ปีเตอร์ บากเกอร์ (Peter Bakker) ประธานคณะผู้บริหารของ World Business Council on Sustainable Development(WBCSD)มร.เอ็มมานูเอล เฟเบอร์ (Emmanuel Faber) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัท Danone และบริษัท Mars รวมทั้งผู้บริหารจากมูลนิธิอีท (EAT Foundation)
นอกจากนี้ นายศุภชัย ได้หารือร่วมกับมร. พอล โพลแมน (Paul Polman) ผู้ก่อตั้งองค์กร Imagine, ประธานร่วมของคณะกรรมการบริหาร UN Global Compact ,ประธานคณะกรรมการที่ปรึกษา One Young World,ประธาน International Chamber of Commerce และอดีตซีอีโอ ของ ยูนิลีเวอร์ โกลบอล และMrs. Lise Kingo ซีอีโอและผู้อำนวยการบริหารของ UN Global Compact ซึ่งนายศุภชัย ในฐานะนายกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย ได้รายงานความคืบหน้าเกี่ยวกับการจัดตั้งและกิจกรรมของสมาคมฯที่เกิดขึ้นจากการรวมตัวของภาคเอกชนไทย เพื่อเป็นพลังขับเคลื่อนการทำธุรกิจอย่างยั่งยืนในไทย สอดคล้องกับหลักการสากลของ UN Global Compact ทั้งสิบประการว่าด้วยสิทธิมนุษยชน แรงงาน สิ่งแวดล้อมและการต่อต้านการทุจริต รวมถึงการส่งเสริมภาคธุรกิจให้ผนึกกำลังเพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals-SDGs)ได้อย่างแท้จริง โดยเครือซีพีจะเป็นหนึ่งในผู้นำธุรกิจไทยที่จะส่งเสริมและสนับสนุนความยั่งยืนในภาคธุรกิจและสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย พร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมจัดกิจกรรมฉลองครบรอบ 20 ปีของการตั้ง UN Global Compact ในปี ค.ศ.2020
นอกจากนี้ ระหว่างวันที่ 23-24 กันยายน 2562 ณ มหานครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกานายนพปฎล เดชอุดม ประธานคณะผู้บริหารด้านความยั่งยืนองค์กร เครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้เข้าร่วมการประชุม Sustainable Development Impact Summit ที่จัดโดย World Economic Forum (WEF) ครั้งที่ 3 ซึ่งมีผู้แทนกว่า 800 คนจากภาครัฐและภาคธุรกิจทั่วโลกเข้าร่วม โดยการหารือมุ่งเน้น 4 ประเด็นหลักคือ 1.การปรับกลไกตลาดที่คำนึงถึงผลกระทบต่อทั้งมนุษย์และสิ่งแวดล้อมมากขึ้น(Transforming Markets) 2. ระดมพลังเพื่อป้องกันปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะการร่วมกันทุกวิถีทางเพื่อจำกัดไม่ให้อุณหภูมิเฉลี่ยโลกเพิ่มขึ้นสูงกว่า 1.5 องศาเซลเซียส (Accelerating Climate Action) 3.ระดมทุนเพื่อช่วยให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Financing Sustainable Development) และ 4.ระดมกำลังเพื่อสร้างสังคมที่เสมอภาค (Mobilizing Actions for Inclusive Societies) ซึ่งเป็นการประชุมในช่วงเวลาเดียวกับการหรือสุดยอดระดับผู้นำของสหประชาชาติ 3 เรื่อง คือ เรื่องสภาพภูมิอากาศ เรื่องเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนและเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
นายนพปฎล กล่าวว่า จากการหารือกับศาสตราจารย์ Klaus Schwab ประธานและผู้ก่อตั้ง WEF ผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่เห็นว่า กิจการครอบครัว (Family Business) ที่มีผู้บริหารมืออาชีพ ต้องส่งเสริมให้ผู้บริหารตระหนักถึงเรื่องการส่งเสริมความยั่งยืนด้วย นอกจากการรักษาให้ธุรกิจสามารถเติบโตต่อไป อีกทั้งจากที่ได้เข้าร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการหลายรายการ พบว่า ปีนี้เรื่องที่ได้รับความสนใจมากคือ เรื่อง Circular Economy หรือความพยายามที่จะใช้ผลิตภัณฑ์ให้ได้คุ้มค่ามากที่สุด ก่อนจะถูกทำลาย โดยอาจเป็นการแปรสภาพเพื่อเพิ่มมูลค่า (upcycle) การแปรสภาพเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ (recycle) การใช้ซ้ำ (reuse) ซึ่งมีการเรียกร้องให้ทั่วโลกตั้งเป้าหมายเกี่ยวกับการสร้าง Circular Economy ใหม่ และต้องส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือกันมากขึ้น จากปัจจุบันที่มีวัสดุทั่วโลกกลับเข้าสู่ระบบ Circular Economy เพียง 9% และขยะพลาสติกทั่วโลกถูกนำกลับมาแปรสภาพเพื่อใช้ใหม่ (recycle) เพียง 10%เท่านั้น โดยภาคธุรกิจต้องร่วมมือกันสร้างความตระหนักให้แก่ผู้บริโภคมากขึ้น เพื่อลดการบริโภคเกินความต้องการในชีวิตประจำวัน หากสามารถส่งเสริมให้วัสดุต่างๆหมุนเวียนอยู่ในเศรษฐกิจได้มากขึ้น อาจเพิ่มมูลค่าให้เศรษฐกิจทั่วโลกได้ถึง 4.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ
นอกจากนี้ WEF ประเมินว่าเทคโนโลยีแบตเตอรี่สามารถพัฒนาให้ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของภาคการขนส่งและอุตสาหกรรมพลังงานได้ถึง 30% ภายในปี ค.ศ.2030 ซึ่งจะช่วยให้สามารถควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกเพิ่มขึ้นไม่เกิน 2 องศาเซลเซียส โดยภาคธุรกิจต้องหันมาร่วมกันพัฒนาเทคโนโลยีแบตเตอรี่อย่างจริงจัง หากสามารถปฏิวัติการผลิตแบตเตอรี่ได้จริง อาจช่วยสร้างงานใหม่แก่ประชากรกว่า 10 ล้านคน ช่วยเพิ่มมูลค่าให้เศรษฐกิจโลกอีก 1.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ และช่วยให้ประชากรทั่วโลกกว่า 600 ล้านคนมีไฟฟ้าใช้เป็นครั้งแรก
ในการนี้ นายนพปฎลยังได้หารือกับ ศาสตราจารย์ Klaus Schwab ประธานและผู้ก่อตั้ง WEF ผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่เห็นว่า กิจการครอบครัว(Family Business) ที่มีผู้บริหารมืออาชีพ ต้องส่งเสริมให้ผู้บริหารตระหนักถึงเรื่องการส่งเสริมความยั่งยืนด้วย นอกจากการรักษาให้ธุรกิจสามารถเติบโตต่อไป พร้อมกันนี้นายนพปฎล ได้หารือกับผู้แทน Grow Asia และ WEF เพื่อหาแนวทางส่งเสริมเกษตรกรรมที่ยั่งยืนในภูมิภาคอาเซียน และการส่งเสริมผลิตผลทางการเกษตรที่จะช่วยลดผลกระทบต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อาทิ การผลิตเนื้อสัตว์จากแหล่งอื่น เช่น พืชหรือการเพาะเนื้อเยื่อ(Alternative meat)แทนการเลี้ยงปศุสัตว์ด้วย
ต่อมาในวันที่ 25 กันยายน 2562 ณ สำนักงานสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก นายนพปฎล ได้เข้าร่วมการประชุม SDG Business Forum ซึ่งจัดโดยหอการค้าต่างประเทศ ร่วมกับสหประชาชาติและ UN Global Compact โดยมีผู้แทนจากทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลาง ภาคประชาสังคมและผู้แทนองค์การระหว่างประเทศ เข้าร่วมกว่า 400 คน ทั้งนี้ นายนพปฎล ในฐานะตัวแทนเครือเจริญโภคภัณฑ์ ซึ่งเป็นตัวแทนภาคธุรกิจของไทย ที่มียุทธศาสตร์ความยั่งยืนให้บรรลุตามเป้าหมายในปี 2563 ได้ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับผู้มีส่วนได้เสียต่างๆในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน(SDGs) ตลอดจนความท้าทายจากการนำยุทธศาสตร์ไปปรับใช้ในการดำเนินงาน ซึ่งหัวข้อการหารือที่สำคัญในปีนี้ ได้แก่ การเงินที่สนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Financing) ซึ่งภาคการเงินและนักลงทุน รวมทั้งธุรกิจขนาดใหญ่ที่ประกอบกิจการในหลายประเทศ ต้องเข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญของการบรรลุ SDGsด้วย และสนับสนุนธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมมากขึ้นให้สามารถนำ SDGs ไปใช้กับยุทธศาสตร์การทำธุรกิจได้ด้วย รวมทั้งต้องกระตุ้นให้ภาคเอกชนขยายผลและต่อยอดการทำธุรกิจที่ยั่งยืนให้มีขอบเขตกว้างขึ้น
ทั้งนี้ สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย และโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติได้ร่วมกับกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม จัดประชุมระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ครั้งที่ 3 : หลักการเงินที่ยั่งยืน : อะไรที่ภาคธุรกิจจำเป็นต้องรู้? เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2562 ที่กรุงเทพฯประเทศไทย และได้รับความสนใจจากผู้แทนภาครัฐและเอกชนเข้าร่วมกว่า 200 คน