รฟท. จับมือ CP เปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ เซ็นสัญญาเดินหน้ารถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน
วันนี้ (24 ต.ค. 62) เวลา 13.45 น. ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีลงนามสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง – สุวรรณภูมิ – อู่ตะเภา) ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย โดย นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย และบริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด (กลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัทเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร) โดย นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ และพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ เพื่อสนับสนุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก โดย นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก การรถไฟแห่งประเทศไทย โดยนายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย และบริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด (กลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัทเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร)โดย นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์
สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน มีแนวเส้นทางเชื่อมโยงท่าอากาศยานสำคัญของประเทศ โดยเริ่มต้นที่ท่าอากาศยานดอนเมือง วิ่งตรงเข้าสู่สถานีกลางบางซื่อ ผ่านสถานีมักกะสัน เลี้ยวเข้าสู่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มุ่งหน้าต่อไปตามแนวทางรถไฟสายตะวันออก ผ่านแม่น้ำบางปะกง เข้าสู่สถานีฉะเชิงเทรา สถานีชลบุรี สถานีศรีราชา สถานีพัทยา และเข้าสู่ท่าอากาศยานอู่ตะเภาเป็นสถานีสุดท้าย ระยะทางรวม 220 กิโลเมตร โดยขบวนรถสามารถทำความเร็วสูงสุดได้ถึง 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การลงนามสัญญาครั้งนี้ถือเป็นอีกก้าวสำคัญของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทย ภายใต้การกำกับดูแลอย่างรัดกุมของคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกและนับเป็นครั้งแรกของรัฐบาลที่ได้ผลักดันโครงการรถไฟความเร็วสูงในรูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP Net Cost) ที่มีมูลค่าสูงถึง 224,544 ล้านบาท โดยที่ประเทศได้ประโยชน์สูงสุดจากข้อตกลงสัญญาสัมปทานโดยมีกรอบวงเงินที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติ 119,425 ล้านบาท (มูลค่าปัจจุบัน) ปรากฏว่ากลุ่มเอกชนเสนอกรอบวงเงินที่รัฐร่วมลงทุน 117,226 ล้านบาท (มูลค่าปัจจุบัน) ส่งผลให้รัฐประหยัดค่าใช้จ่ายได้ถึง 2,200 ล้านบาท ภายใต้สัญญาร่วมลงทุน 50 ปี อีกทั้งทรัพย์สินทั้งหมดจะเป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐเมื่อสิ้นสุดสัญญา
นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ ในฐานะผู้แทนกลุ่มกิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และ พันธมิตร เปิดเผยว่า รู้สึกเป็นเกียรติและภาคภูมิใจเป็นอย่างมากที่ได้มีโอกาสร่วมลงทุนเพื่อพัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง – สุวรรณภูมิ -อู่ตะเภา) โดยได้ร่วมกับพันธมิตรที่เป็นกิจการร่วมค้า ได้แก่ China Railway Construction Corporation Limited จากสาธารณรัฐประชาชนจีน บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ บมจ. ช.การช่าง จัดตั้ง “บริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด” หรือ “Eastern High-Speed Rail Linking Three Airports Co.,Ltd.” เป็นตัวแทนลงนามในสัญญาร่วมลงทุน Public – Private - Partnership หรือ PPP ในครั้งนี้ โดยภายหลังการลงนามจะเร่งเข้าไปบริหารจัดการบริษัทรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินฯ เพื่อจะได้ดำเนินการลงพื้นที่สำรวจ/ออกแบบ เจรจากับผู้รับเหมาก่อสร้าง และ Suppliers ต่างๆ รวมถึงเร่งจัดทำแผนก่อสร้างและเดินหน้าทันที
“นับเป็นประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญของประเทศไทยที่ภาคเอกชนได้ร่วมลงนามในสัญญาร่วมลงทุน PPP กับภาครัฐผลักดันให้เกิดโครงการก่อสร้างเมกะโปรเจ็คระดับนานาชาตินี้ขึ้นมาได้สำเร็จ โดยต้องขอขอบคุณพันธมิตรที่เป็นกิจการร่วมค้า รวมทั้งพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ทั้งจากประเทศไทยและต่างประเทศ อาทิ ธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JBIC) และ ธนาคารเพื่อการพัฒนาประเทศจีน (CDB) รวมทั้งได้รับเกียรติเป็นอย่างสูงจากเอกอัครราชทูต 3 ประเทศ ประกอบด้วย นายหลู่ย์ เจี้ยน เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย นายชิโร ซะโดะชิมะ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย และ นายโลเรนโซ กาลันตี เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอิตาลีประจำประเทศไทย ที่ให้การสนับสนุนและร่วมเป็นสักขีพยานในโครงการประวัติศาสตร์ที่เป็นความร่วมมือระดับโลกเพื่อพลิกโฉมหน้าประเทศไทยในครั้งนี้” นายศุภชัยกล่าว
โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 2566 ซึ่งเมื่อแล้วเสร็จจะทำให้เกิดการพัฒนาเมืองโดยรอบสถานี นำความเจริญสู่ชุมชน เกิดการกระจายรายได้ให้ประชาชนในพื้นที่ได้มีที่ค้าขาย มีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจประมาณ 650,000 ล้านบาท ถือเป็นกุญแจสำคัญในการยกระดับเศรษฐกิจไทยตามนโยบาย Thailand 4.0 นอกจากนี้ ยังส่งผลให้เกิดการจ้างงานในช่วงก่อสร้างมากถึง 16,000 อัตราและการจ้างงานในธุรกิจเกี่ยวเนื่องมากกว่า 100,000 อัตรา ใน 5 ปีข้างหน้า รวมทั้งเปิดโอกาสให้คนไทยได้เรียนรู้วิธีการทำงานในโครงการด้วยเทคโนโลยีสูงอย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาสู่การเป็นบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญสูงและมีศักยภาพสูงเพียงพอที่จะสามารถแข่งขันกับนานาประเทศได้