คุณศุภชัย เจียรวนนท์ ประชุมสุดยอดผู้นำด้านความยั่งยืน ในงาน UN Global Compact Virtual Leaders Summit 2020
คุณศุภชัย เจียรวนนท์ ซีอีโอเครือเจริญโภคภัณฑ์ ตัวแทนภาคธุรกิจไทยเพียงหนึ่งเดียวในภูมิภาคเอเชีย ขึ้นเวทีระดับโลกร่วมวงประชุมสุดยอดผู้นำด้านความยั่งยืน ในงาน UN Global Compact Virtual Leaders Summit 2020 พร้อมแบ่งปันวิสัยทัศน์และมุมมองธุรกิจระดับโลก ด้วยแนวคิด Change & Reform หลังวิกฤตโควิด-19เพื่อสร้างอนาคตที่ยั่งยืน ลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม
คุณศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ และนายกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทยผู้นำหนึ่งเดียวในภูมิภาคเอเชีย ร่วมแสดงวิสัยทัศน์ระดับโลก ในหัวข้อ“การทบทวนความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นพร้อมปูทางสู่การฟื้นตัว” (Reflections on Change & Roadmaps to Recovery) ซึ่งเป็นหนึ่งในวงอภิปรายสำคัญของงานสัมมนาเรียลลิตี้ต่อเนื่อง 26 ชั่วโมง บนเวทีผู้นำด้านความยั่งยืนระดับโลก “UN Global Compact Virtual Leaders Summit 2020” จัดขึ้นในโอกาสครบรอบ 20 ปี UN Global Compact ซึ่งรวบรวมสุดยอดผู้นำระดับโลกกว่า 200 คน ร่วมแบ่งปันวิสัยทัศน์ และมุมมองธุรกิจบนรากฐานของความยั่งยืนให้ฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่งจากวิกฤติโควิด-19 ภายใต้แนวคิด “Recover Better, Recover Stronger, Recover Together” โดยมีผู้สนใจลงทะเบียนเข้าร่วมงานผ่านรูปแบบออนไลน์ Virtual Meeting กว่า 15,000 คน จาก 193 ประเทศทั่วโลก
โดยการจัดงานครั้งนี้มีซีอีโอจากบริษัทชั้นนำและผู้นำการขับเคลื่อนด้านความยั่งยืนระดับโลกทั้งจากสหประชาชาติและภาคธุรกิจเข้าร่วมอย่างคับคั่ง อาทิ นายอันโตนิโอ กูร์เตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ นายบัน คี มูน อดีตเลขาธิการสหประชาชาติ นางแองเกล่า แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี นายอัล กอร์ อดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ และผู้นำในการรณรงค์เพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นายพอล โพลแมน อดีตซีอีโอของยูนิลีเวอร์ และนางลิเซ่ คิงโก้ ซีอีโอและผู้อำนวยการบริหาร UN Global Compact นางเฮเลนา เฮลเมอรส์สัน ซีอีโอของ H&M ส่วนผู้แทนจากภาคธุรกิจไทย ได้แก่ นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ และนายกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย
นายอันโตนิโอ กูร์เตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ กล่าวในพิธีเปิดงานสัมมนาว่า เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่ภาคธุรกิจต้องเป็นตัวอย่างในการขับเคลื่อนเพื่อเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ให้ดีขึ้น ต้องสร้างพลังบวกร่วมกันเพื่อผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น และร่วมกันสร้างวันพรุ่งนี้ที่ดีกว่า โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง อย่างไรก็ตาม ภายหลังผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งลามไปทั่วทุกมุมโลก เราจะตอกย้ำความมุ่งมั่นขององค์กรธุรกิจในการขับเคลื่อน SDGs และสร้างอนาคตที่ยั่งยืนสำหรับทุกคนโดยการบูรณาการหลักการสิบประการของ UNGC มาใช้ในการปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจและการดำเนินงานให้ยั่งยืน สอดคล้องกับวิกฤติการณ์ที่ทั่วโลกต้องเผชิญให้ฟื้นตัวได้ดีขึ้น แข็งแรงขึ้น และก้าวผ่านไปด้วยกันได้
สำหรับเวทีสำคัญแรกของพิธีเปิดงานนี้ เริ่มต้นด้วยการเสวนาในหัวข้อ“Reflections on Change & Roadmaps to Recovery” หรือการทบทวนความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นพร้อมปูทางสู่การฟื้นตัว นำโดย นาย ศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ และนายกสมาคมโกลบอลคอมแพ็กประเทศไทย ที่เป็นผู้แทนภาคธุรกิจไทยเพียงคนเดียวบนเวทีสัมมนาระดับโลก ร่วมพูดคุยกับ คลาร่า อาภา อโซฟรา ซีอีโอแห่ง ARPA Equipos Móviles de Campaña ประเทศสเปน คาร์มานี เรดดี้ นักพัฒนานวัตกรรมด้านความยั่งยืนของบริษัท Distell ประเทศแอฟริกาใต้ และฟิลลิป เจนนิงส์ อดีตเลขาธิการ UNI Global Union โดยมี เฟมิ โอคิ ผู้สื่อข่าวระดับนานาชาติ เป็นผู้ดำเนินการเสวนา
โอกาสนี้ คุณศุภชัย เจียรวนนท์ เน้นย้ำเรื่อง การรับมือสถานการณ์โควิด ของภาคเอกชน โดยพูดถึงการส่งอาหารให้กับบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงโรงพยาบาลกว่า 90 แห่ง และ ภารกิจการสร้างโรงงานหน้ากากอนามัยใน 5 สัปดาห์ ในฐานะภาคเอกชน การรักษางานเป็นเรื่องจำเป็น ต้องทำให้ธุรกิจเดินหน้าไปให้ได้ การเลิกจ้าง จะเป็นทางเลือกสุดท้าย เพราะจะเป็นการเพิ่มภาระให้สังคม และอย่าหยุดการลงทุน และ อย่าเสียความมั่นใจ เพราะวิกฤตจะผ่านพ้นไป การจะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อเสียความมั่นใจ ดังนั้น ในภาวะเช่นนี้ ต้องปรับปรุงองค์กร ลดต้นทุน และ บริหารจัดการท่ามกลางภาวะวิกฤต ไม่เสียความเชื่อมั่นในการลงทุนของภาคเอกชน ต้องมีการวางแผนระยะกลาง และ ระยะยาว และ เครือข่าย GCNT ก็เป็นตัวอย่างของความร่วมมือ ของภาคเอกชน และ ร่วมกันสหประชาชาติ ในการบรรลุผลสำเร็จด้านความยั่งยืน
“จากวิกฤตโควิด-19 ตอกย้ำสิ่งที่ผมเชื่อว่าวิกฤตมาพร้อมกับโอกาสเสมอ เมื่อการเปลี่ยนรูปแบบ (Reform) ธุรกิจของเรา ได้ผลักดันให้เรากลายเป็นองค์กรนวัตกรรมมากขึ้น ที่สำคัญต้องให้ความสำคัญกับการสร้างคน สร้างภาวะผู้นำอย่างทั่วถึงทั้งองค์กร เราต้องทำให้ดีที่สุดจากสถานการณ์ครั้งนี้...ไม่ว่าจะมีวิกฤตโรคระบาดเกิดขึ้นหรือไม่ กฎระเบียบต่างๆที่ออกมาในห้วงนี้สามารถนำมาใช้สำหรับการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกได้ และนี่คือช่วงเวลาแห่งโอกาสในการปฏิรูป ดังนั้นไม่ว่ากฏระเบียบนั้นจะเป็นอย่างไร แต่ท้ายที่สุดแล้วต้องเป็นไปเพื่อการเยียวยาและเกิดประโชน์ต่อระบบเศรษฐกิจ การจ้างงาน การสร้างงาน หรือแม้กระทั่ง การสร้างโอกาสทางการศึกษา รัฐบาลควรถือโอกาสนี้ในการผลักดันภาคเอกชนให้เข้าร่วมและช่วยกันสร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ และเอกชนเองควรจะตอบรับนโยบายนี้ด้วย...และท้ายสุดนี่คือช่วงเวลาที่เราจะแสดงลูกหลานของเราได้เห็นว่าพื้นฐานของการผ่านพ้นวิกฤตนั้น เราจำเป็นต้องช่วยเหลือกันและกัน ดูแลซึ่งกันและกัน ทั้งครอบครัว สังคม รวมไปถึงองค์กรของเราด้วย”คุณศุภชัยกล่าว
ซีอีโอเครือซีพี กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามเหตุการณ์ครั้งนี้ไม่ใช่เพียงแค่ปัญหาเรื่องโรคระบาดอย่างโควิด-19 เท่านั้น เพราะวันหนึ่งสถานการณ์จะดีขึ้นและเราจะมีวิธีการรับมือกับมันได้ ที่สำคัญคือเราไม่ควรมองข้ามความท้าทายอื่น ๆ ที่ยังคงเกิดขึ้นในปัจจุบันด้วย ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาด้านสภาพภูมิอากาศ (Cilmate Change) ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ปัญหาการว่างงาน ปัญหาขยะ ฯลฯ ซึ่งในฐานะภาคเอกชนเราต้องช่วยนำพาองค์กรข้ามผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปให้ได้ แต่ในขณะเดียวกัน เรายังคงต้องทำงานร่วมกับภาครัฐและภาคส่วนต่างๆ เพื่อประโยชน์ร่วมกัน
คุณศุภชัย ยังกล่าวถึงบทบาทของภาคธุรกิจเอกชนที่มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเรื่องความยั่งยืนว่า ต้องรณรงค์โดยมุ่งเน้นไปที่การเสริมพลังบวกให้องค์กรธุรกิจต่างๆสนใจในการร่วมมือกันขับเคลื่อนเรื่องนี้ อาทิ ด้านการศึกษา การส่งเสริมให้มีการรายงานความโปร่งใสและเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับเป้าหมายและความยั่งยืนขององค์กรภาคธุรกิจ
ขณะที่ผู้ร่วมวงเสวนาคนอื่นๆได้ร่วมกันแสดงความเห็นได้อย่างน่าสนใจเช่นกัน คาร์มานี เรดดี้ นักพัฒนานวัตกรรมด้านความยั่งยืนของบริษัท Distell ประเทศแอฟริกาใต้ กล่าวถึงความร่วมมือระดับโลกในการพยายามรับมือกับวิกฤตโควิด-19 แพร่กระจาย โดยในภาคธุรกิจได้ละวางการแข่งขันทางการค้าและหันมาพยายามแก้ไขสถานการณ์ในช่วงเวลาที่ยากลำบาก อาทิ การเข้าช่วยเหลือด้านอุปกรณ์ที่จำเป็น ตั้งแต่หน้ากากอนามัย ชุด PPE และอุปกรณ์อื่นๆทางการแพทย์ ขณะเดียวกันยังมองเชื่อมโยงถึงความร่วมมือลักษณะเดียวกันนี้ควรเกิดขึ้นเพื่อช่วยกันเดินหน้าปฏิบัติตามแนวทางทางการพัฒนาที่ยั่งยืนของ SDGs ภายในปี 2030 ที่เหลือเวลาอีกเพียง 10 ปีเท่านั้น ซึ่งการช่วยกันรณรงค์เรื่องนี้ให้ได้ผลจะต้องอาศัยพลังของผู้บริโภคที่จะมีส่วนสำคัญในการเข้ามามีบทบาทต่อการขับเคลื่อนและการตัดสินใจของภาคธุรกิจให้มีการเปลี่ยนแปลงได้ ขณะเดียวกันยังหวังว่าบทบาทของคนรุ่นใหม่จะเข้ามาช่วยกันเรียนรู้ สนับสนุน และทำงานกับธุรกิจเพื่อสังคมให้มากขึ้น
ฟิลลิป เจนนิงส์ อดีตเลขาธิการ UNI Global Union กล่าวว่า จากข้อมูลพบว่าหน่วยงานและองค์กรราว 80% ได้บรรจุดเรื่องนโยบายด้านสิทธิแรงงานและสิทธิมนุษยชนในแนวทางการทำธุรกิจเพื่อความยั่งยืนของ SDGs แต่เป็นเพียงกฎกติกที่เขียนไว้ในกระดาษเท่านั้น มีองค์กรเพียง 20% เท่านั้นที่มีการปฏิบัติได้มาตรฐานในด้านสิทธิแรงงานและสิทธิมนุษยชน ขณะที่ยังพบว่าหลายธุรกิจยังมีการใช้แรงงานที่ไม่เป็นธรรมอยู่มาก ดังนั้นแนวทางที่ถูกต้องของแต่ละธุรกิจจะต้องทำให้มั่นใจได้ว่าธุรกิจต่างๆต้องเร่งคำนึงถึงเรื่อง SDGs ให้มาก ไม่เพียงแต่คำนึงถึงคุณค่าของผู้ถือหุ้นเท่านั้น ต้องรับฟังพนักงาน แรงงาน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียด้วย แม้ที่ผ่านมาเราจะเห็นว่าองค์กรธุรกิจต่างๆมีการบริหารจัดการที่ดี แต่จะพบว่ามีซีอีโอ และคณะกรรมการบริหารในบางองค์กรไม่ผลักดันให้วาระ SDGs และวาระการพัฒนาอย่างยั่งยืนหนักแน่นเพียงพอ ดังนั้นเป็นเรื่องที่บรรดาซีอีโอต้องตระหนักนำเรื่อง SDGs มาผนวกไว้ในการปฏิบัติธุรกิจทุกขั้นตอนตลอดห่วงโซ่อุปทาน นอกจากนี้ยังเสนอว่าควรสร้างพันธะสัญญาทางสังคมขึ้นมาตั้งแต่ระดับย่อยคือกลุ่มธุรกิจกับพนักงานและในระดับโลก อีกทั้งพลังทางสังคมจะต้องช่วยกันจับตาและออกมาบอกต่อสังคมหากพบว่ามีองค์กรและธุรกิจกำลังทำสิ่งที่ผิดปกติเพื่อผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง
คลาร่า อาภา อโซฟรา ซีอีโอแห่ง ARPA Equipos Móviles de Campaña ประเทศสเปน
กล่าวถึงเครื่องมือสำคญที่ทุกองค์กรธุรกิจจะต้องนำมาใช้เป็นตัวชี้วัดและตั้งคำถามกับองค์กรของตัวเองว่า เรากำลังดำเนินการตาม SDGs ที่ดีอยู่หรือไม่ โดยจะต้องพิจารณาถึง 4 ประเด็น ดังนี้ 1.บทบาทของภาคเอกชนในการรับผิดชอบต่อสังคม 2.เราผลิตสินค้าและบริการของเราอย่างไร 3.การพิจารณาถึงการรักษาสิ่งแวดล้อม 4.การกำกับดูแลกิจการที่ดี โดยวิธีการปฏิบัติจะต้องตรวจสอบสิ่งเหล่านี้เป็นประจำอย่างต่อเนื่องทุก 6 เดือนว่าเราคืบหน้าแค่ไหนอย่างไร ตลอดจนฝึกอบรมพนักงานขององค์กรให้มีทักษะที่จำเป็นสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืน
ในเวทีประชุม UN Global Compact Virtual Leaders Summit 2020 ครั้งนี้ ยังได้เชิญผู้นำระดับโลกที่น่าสนใจมาร่วมให้ทัศนะในธีม Build Back Better หรือ “การสร้างใหม่ที่ดีกว่าเดิม” ซึ่งนายพอล โพลแมน อดีตซีอีโอของยูนิลีเวอร์ ได้ชี้ทิศทางหลังสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 ผ่านพ้นไปว่า การจะฟื้นตัวและสร้างใหม่ให้ดีขึ้น หรือ Build Back Better นั้น บทบาทภาวะของผู้นำจะสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด การดำเนินการตามยุทธศาสตร์ SDGs ภายในปี 2030 ขณะนี้เหลือเวลาอีกเพียง 4,000 กว่าวันเท่านั้น จึงหวังว่าวิกฤตโควิด-19 ครั้งนี้ จะช่วยทำให้ทุกคนตระหนักได้ว่าโลกยิ่งต้องการให้เรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs เป็นเป้าหมายสำคัญของโลก เพราะโควิด-19 ยิ่งแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างธรรมชาติ เศรษฐกิจ สภาพอากาศ และสุขภาพของมนุษย์ ขณะเดียวกันเทรนด์ขณะนี้จะเห็นถึงประเด็นที่โลกกำลังพูดถึงและมีความเคลื่อนไหวทางสังคมอย่างสูงมาก อาทิ การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ความอยุติธรรมทางเชื้อชาติ ความไม่เท่าเทียมทางเพศ
“ขณะนี้ไม่ใช่เวลาง่ายๆของบรรดาซีอีโอ เพราะมีความท้าทายมากขึ้นที่จะต้องออกแบบสิ่งต่างๆให้ถูกต้อง เพราะขณะนี้เรามีวิกฤตของมนุษย์ วิกกฤตเศรษฐกิจ และวิกฤตธรรมาภิบาล เพราะสั่นสะเทือนถึงผู้คนจำนวนมากในการใช้ชีวิตต่างๆ…ทั้งนี้เพื่อให้มนุษยชาติเจริญรุ่งเรือง ไม่ใช่เทคโนโลยีที่เราต้องการ หากแต่เราต้องการความเป็นผู้นำภายในตัวเรา เราต้องการผู้นำที่เข้าใจมนุษย์ ด้วยความถ่อมตัวและเป็นมนุษย์ที่ดี นี่คือวิกฤตที่เกิดจากมนุษยชาติเป็นศูนย์กลาง ตอนนี้เป็นโอกาสที่จะก้าวเข้าสู่การพัฒนาและแก้ไขได้แล้ว ตอนนี้เป็นเวลาสำคัญที่ภาคเอกชนจะต้องลงมือทำให้เป็นรูปธรรม มากกว่าการใช้คำพูดเท่านั้น”นายโพลแมนกล่าว และว่า จะเห็นได้ว่ากลุ่มองค์กรธุรกิจ และบริษัทที่รับหลักการ 10 ข้อ ของ UN Global Compact นั้นมีผลงานที่ดีกว่าบริษัทอื่นในด้านการเงินและส่งผลที่ดีต่อผู้ถือหุ้น แต่มีเพียง 45% ของกลุ่มบริษัทเหล่านั้น ที่นำเรื่อง SDGs มาไว้ในกลยุทธ์ของบริษัท ดังนั้นเราจำเป็นต้องพัฒนาเป้าหมายเหล่านั้นเพื่อผลประโยชน์ของธุรกิจเราเอง และเพื่อจะสามารถประสบความสำเร็จในระยะยาว ขณะเดียวกันขณะนี้บริษัทต่างๆก็ปรับตัวในการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลายกลุ่มด้วยการใช้โมเดล ESG (Environment Social Governance)
ขณะที่ นายอัล กอร์ อดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ และผู้นำในการรณรงค์เพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กล่าวว่า ปัญหาโควิด-19 และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นบทเรียนสำคัญถึงการที่มนุษย์มองข้ามความรุนแรงของปัญหาที่เกิดขึ้นตั้งแต่ในระยะเริ่มต้น เป็นอันตรายจากความประมาทที่ส่งผลร้ายในการจัดการรับมือในที่สุด ขณะที่วันนี้เราจะเห็นถึงปัญหาเรื่อง Climate Change และ Carbon Asset ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องและไม่มีแนวโน้มจะลดลงหากปราศจากการกระทำที่จริงจังและแพร่หลาย ดังนั้นจึงเป็นช่วงเวลาที่สำคัญของภาคเอกชนและภาครัฐที่จะต้องผนึกกำลังเพื่อสร้างการฟื้นฟู ไม่เพียงแต่ด้านเศรษฐกิจเท่านั้นแต่ยังรวมถึงสิ่งแวดล้อมด้วย
นายอัล กอร์ กล่าวด้วยว่า การฟื้นฟูในรูปแบบการพัฒนาที่ยั่งยืนไม่ใช่เพียงแค่การรับมือปัญหาโรคระบาดที่เรากำลังเผชิญอยู่ แต่ยังมีปัญหาที่เราคุ้นเคยกันดีทั้งเรื่องสภาพภูมิอากาศ และความเหลื่อมล้ำ แต่ยังรวมถึงปัญหาการเหยียดเพศและความหลากหลายด้านเชื้อชาติ ซึ่งเห็นได้ชัดว่ารุนแรงขึ้นมากโดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา เป็นเรื่องจำเป็นที่เราต้องตื่นตัวให้มากขึ้น และสร้างการรับรู้นี้