ซีอีโอเครือซีพี “ศุภชัย เจียรวนนท์” ร่วมแสดงวิสัยทัศน์เรื่อง Leading Sustainable Business ในงานมหกรรมด้านความยั่งยืนที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน SUSTAINABILITY EXPO 2022
เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2565 คุณศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ร่วมแสดงวิสัยทัศน์ในเวทีเสวนา CEO Panel ในหัวข้อ “Leading Sustainable Business” พร้อมกับผู้บริหารองค์กรชั้นนำคือ คุณธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด(มหาชน) คุณรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) และคุณฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) โดยมีคุณสุทธิชัย หยุ่น ดำเนินรายการ เพื่อร่วมนำเสนอแนวทางด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนมาปรับใช้ในการบริหารธุรกิจ เป็นแนวทางให้กับผู้นำองค์กรอื่นได้นำไปปรับใช้ต่อไป ในงานมหกรรมด้านความยั่งยืนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในอาเซียน “SUSTAINABILITY EXPO 2022”ครั้งที่ 3 ภายใต้แนวคิด “พอเพียง ยั่งยืน เพื่อโลก” ซึ่งจัดขึ้นโดยบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) และเครือข่าย Thailand Supply Chain Network (TSCN) โดยงานเสวนาครั้งนี้ได้รับเกียรติจากนายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เข้าร่วมรับฟัง และมีผู้บริหารองค์กรชั้นนำ นักธุรกิจ ผู้ประกอบการรายย่อยและผู้ที่สนใจเข้าร่วมฟังกว่า 2,000 คน
คุณศุภชัย กล่าวว่า ทุกวันนี้โลกเปลี่ยนแปลงและมีความท้าทายอย่างมาก การทำธุรกิจด้วยความยั่งยืนจึงไม่ใช่เรื่องของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นเรื่องของทุกคน ทุกภาคส่วน เพราะวันนี้การทำธุรกิจมีความเกี่ยวโยงกับสังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม เราต้องบริหารจัดการธุรกิจให้มีความสมดุลอย่างยั่งยืน ทั้งนี้เครือซีพีได้ปักหมุดนำกลุ่มธุรกิจทั่วโลกประกาศเป้าหมายความยั่งยืนไปเมื่อ 6 ปีที่แล้ว ซึ่งถือเป็นองค์กรเอกชนลำดับต้นๆที่วางเป้าหมายความยั่งยืนที่ชัดเจน และดำเนินงานตามแผนอย่างเป็นรูปธรรม จนทำให้ในปีที่ผ่านมาเครือซีพีได้รับคัดเลือกติดอันดับผู้นำองค์กรยั่งยืนระดับโลก UNGC ระดับ LEAD โดยเราได้ตั้งเป้าหมายในอีก 10 ปีข้างหน้าเครือซีพีจะต้องติดในท็อป 20 ด้านความยั่งยืนของโลกให้ได้ โจทย์ใหญ่ของเครือซีพีคือต้องสร้างความตระหนักรู้ให้คนในองค์กรดำเนินธุรกิจเป็นเนื้อเดียวไปกับความยั่งยืนให้ได้ ดังนั้นเครือซีพีจึงได้เร่งเดินหน้าวางเป้าหมายยุทธศาสตร์ด้านความยั่งยืนสู่ปี ค.ศ.2030 รวมทั้งสิ้น 15 เป้าหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป้าหมายที่จะร่วมแก้วิกฤตโลกร้อน โดยมีนโยบายให้กลุ่มธุรกิจของเครือฯทั่วโลกลงมือทำอย่างเร่งด่วนในการนำพาองค์กรสู่Carbon Neutral ภายในปี ค.ศ.2030 และการบรรลุเป้าหมายZero Carbon และ Zero Waste ภายในปี ค.ศ.2050 แม้จะเป็นเรื่องที่ท้าทาย แต่เครือซีพีต้องทำให้สำเร็จให้ได้
คุณศุภชัย กล่าวต่อว่า เป้าหมายความยั่งยืนจะทำให้สำเร็จได้สิ่งสำคัญ “ผู้นำ” ต้องมีส่วนอย่างมากที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงทางบวกให้กับโลกใบนี้ควบคู่ไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยต้องมีความตระหนักรู้และตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนในการดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อส่วนรวมและมีธรรมาภิบาลที่ดี ดังนั้นการทำธุรกิจจึงต้องคิดไปพร้อมกับตั้งเป้าหมายความยั่งยืนในการพัฒนาสินค้าและผลิตภัณฑ์ให้ผู้บริโภคโดยไม่ก่อผลกระทบต่อโลก ต้องพยายามที่จะสร้างสรรค์นวัตกรรม มีการนำเทคโนโลยีมาช่วยตลอดห่วงโซ่การผลิตและบริการในภาคธุรกิจ เช่น การเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียน พลังงานชีวมวล (Biomass) การลงทุนด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงการสนับสนุนเกษตรกรเพื่อหาวิธีลดก๊าซเรือนกระจกในการเพาะปลูก สิ่งเหล่านี้ถือเป็นโอกาสที่จะช่วยพลิกวิกฤติในการทำธุรกิจยุคนี้
ซีอีโอเครือซีพี เปิดเผยว่า วันนี้ภาคธุรกิจจะต้องปรับตัวภายใต้ความท้าทายที่เป็นวาระสำคัญระดับโลก 5 เรื่องหลัก คือ 1.ลดความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในสังคม 2.ต้องปรับตัวเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล (Digital Transformation) เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันทางธุรกิจ 3.สร้างความร่วมมือแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ 4.รับมือกับโรคอุบัติใหม่ในอนาคต และ5.ศึกษาผลกระทบเรื่องของสงครามระหว่างประเทศที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก ดังนั้นการขับเคลื่อนองค์กรในยุคต่อไปสิ่งสำคัญคือการปรับเปลี่ยนกรอบความคิด ยอมปรับตัวและยอมรับการเปลี่ยนแปลงเพื่อพร้อมรับโอกาสและความท้าทายใหม่ๆ
ทั้งนี้ได้ให้คำแนะนำสำหรับผู้ประกอบการในการทำธุรกิจที่ควบคู่ไปกับความยั่งยืนใน 5 ยุทธศาสตร์หลักคือ 1.ผู้นำต้องตั้งเป้าหมายและตัวชี้วัดที่ชัดเจน 2.สร้างการมีส่วนร่วมของพนักงาน คู่ค้าและผู้มีส่วนได้เสียตลอดห่วงโซ่อุปทาน 3.จัดตั้งหน่วยงานหรือผู้ขับเคลื่อนในเรื่องของความยั่งยืนให้เกิดขึ้นในองค์กรอย่างเป็นรูปธรรม 4.ให้อำนาจคนรุ่นใหม่ สร้างEmpowermentให้พนักงาน ให้ความรู้ สร้างแรงจูงใจในการขับเคลื่อนความยั่งยืน และ 5.สร้างนวัตกรรม และเสาะหาเทคโนโลยีใหม่ๆ มาพัฒนากระบวนการผลิตสินค้าและบริการอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้การเปลี่ยนผ่านทางธุรกิจเพื่อสร้าง S-Curve ใหม่ จะเกิดขึ้นได้เมื่อเราลงมือทำกล้าที่จะรีโมเดลธุรกิจเพื่อสร้างโมเดลธุรกิจและวางวิสัยทัศน์ใหม่ เป็นการปรับตัวและดิสรัปต์ตัวเองสร้างความยั่งยืนและให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจของโลก
“เรื่องของความยั่งยืนเป็นเป้าหมายที่ท้าทายและสำคัญมาก ซึ่งไม่สามารถทำเพียงลำพังได้ ต้องสร้างความร่วมมือ สร้างตระหนักรู้ให้คนในสังคมร่วมรับผิดชอบโลกใบนี้ไปด้วยกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปฏิรูปการศึกษาไทยที่ควรนำเรื่องของความยั่งยืน เทคโนโลยีไปบูรณาการกับหลักสูตรทางวิชาการ เพื่อสร้างกลุ่มคนรุ่นใหม่ให้เป็นผู้นำสร้างการเปลี่ยนแปลงโลก เพราะพวกเขาคืออนาคตที่จะแก้ปัญหาสร้างความยั่งยืนได้อย่างแท้จริง สิ่งสำคัญต้องสร้างความเชื่อว่า เราจะต้องลงมือทำจริง ต้องทำมากกว่าเดิม เพื่อให้โลกดีขึ้นกว่าเดิมให้ได้” ซีอีโอเครือซีพี กล่าวปิดท้าย
นอกจากนี้คุณศุภชัย ยังได้เยี่ยมชมบูธต่างๆ ภายในงานและบูธของ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ บริษัทในเครือซีพีที่ได้เข้าร่วมออกบูธแสดงความมุ่งมั่นขับเคลื่อนความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืนในธีม “CPF SUSTAINABLE KITCHEN OF THE WORLD TOWARDS NET-ZERO” ด้วยการนำเสนอนวัตกรรมความยั่งยืนด้านอาหารเพื่ออนาคตและบรรจุภัณฑ์เพื่อความยั่งยืน รวมทั้งนวัตกรรมความยั่งยืนทางกระบวนการผลิต Smart Feed-Farm-Food มาร่วมแสดงให้ความรู้และแบ่งปันประสบการณ์ภายในงาน โดยมีนายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหารซีพีเอฟให้การต้อนรับ