“เกษตรกรรมอัจฉริยะ” สร้างสมดุลและความมั่นคงทางอาหาร ท่ามกลางความผันผวนของสภาวะโลกรวน
สภาวะปัญหาโลกร้อนและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกนับเป็นความท้าทายที่ยากจะก้าวข้ามผ่านไปได้สำหรับมนุษยชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชากรโลกรุ่นหลัง แม้ว่าทั่วโลกต่างมีความพยายามและมุ่งมั่นในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่ในขณะเดียวกัน ”อุตสาหกรรมอาหาร” ที่ทั่วโลกต่างต้องพึ่งพาผลผลิตในการดำรงชีวิตกลับเป็นแหล่งปล่อยใหญ่ที่สร้างปัญหาสภาวะโลกร้อนที่สุดเป็นอันดับสามของโลก
ไม่ว่าจะเป็น การปรับพื้นที่เพื่อการเกษตรกรรม การขนส่ง กระบวนการแปรรูปอาหาร รวมไปถึงขั้นตอนการผลิตที่เกี่ยวข้องต่างๆ อย่างการปศุสัตว์และการเกษตรที่มีส่วนในการปล่อยก๊าซมีเทนสูงถึง 40% นับเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนสูงกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 80 เท่า
หนึ่งในความท้าทายที่ยากที่สุดในการรับมือกับสภาวะโลกร้อนสำหรับอุตสาหกรรมอาหาร คือการสร้างความร่วมมือและการจัดการปัญหาไปในทิศทางเดียวกันในกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียตลอดห่วงโซ่คุณค่า ซึ่งรวมไปถึงเกษตรกรรายย่อยกว่า 350 ล้านชีวิต อุปสรรคต่างๆ อาทิ ข้อจำกัดด้านเงินทุน การเข้าถึงแหล่งเทคโนโลยี ช่องว่างด้านความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสภาวะโลกร้อน ซึ่งรวมไปถึงมาตรการในการลดมลภาวะและการปรับเปลี่ยนกระบวนการดำเนินงาน อีกทั้งการยึดติดในเทคนิคเกษตรกรรมแบบดั้งเดิม ส่งผลให้การบรรลุเป้าหมายอาจอยู่ไกลเกินเอื้อม
“เราต้องผลักดันให้ผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายมีส่วนร่วมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคเกษตร ตั้งแต่กระบวนการผลิต การขนส่ง และระบบโลจิสติกส์ ทุกขั้นตอนในซัพพลายเชนที่ซับซ้อนและเชื่อมต่อกันทั่วโลก เราต้องให้ความสำคัญกับผู้ผลิตและประเภทของสินค้าที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมาก และขับเคลื่อนการให้เกิดการลดผลกระทบ สร้างความร่วมมือในวงกว้าง เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก” ศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด หรือ เครือซีพี กล่าว
เทคโนโลยีและนวัตกรรม คือกลยุทธ์ขับเคลื่อนหลักของเครือเจริญโภคภัณฑ์ในการรับมือกับความท้าทายที่จะเกิดขึ้นตลอดห่วงโซ่คุณค่า โดยได้นำหลักการในการทำเกษตรกรรมแบบอัจฉริยะ (Climate Smart Agriculture) เพื่อรับมือกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ มาเป็นแนวทางการพัฒนาธุรกิจ เช่น การปรับปรุงสูตรอาหารที่นำมาใช้เลี้ยงสัตว์ เพื่อลดการปล่อยก๊าซไนตรัสออกไซด์จากมูลสัตว์ เทียบเท่าได้กับการลดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์กว่า 100,000 ตันต่อปี
“ปัจจุบันเรากำลังอยู่ในขั้นตอนของการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างบล็อกเชน โดรนเพื่อการเกษตร และภาพถ่ายดาวเทียมมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ รวมไปถึงช่วยลดปริมาณขยะ และการสร้างความโปร่งใสในทุกขั้นตอนตลอดห่วงโซ่อุปทาน ทั้งในส่วนของภาคเกษตรกรรมและผลิตภัณฑ์เพื่อการปศุสัตว์”
โครงการ ‘ไทย ไรซ์ นามา’ (Thai Rice NAMA) เป็นโครงการที่ก่อตั้งขึ้น เพื่อประสานความร่วมมือทางภาครัฐระหว่างประเทศไทย เยอรมนี และสหราชอาณาจักร เพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรรายย่อยร่วมลดภาวะโลกร้อน ด้วยการทำนารูปแบบใหม่ ซึ่งสามารถลดการปล่อยก๊าซมีเทนได้อย่างมหาศาล
เครือเจริญโภคภัณฑ์ได้เห็นตัวอย่างที่ดีจากโครงการนี้ และนำแนวคิดไปประยุกต์ใช้ด้วยการจัดตั้งโครงการฝึกหัดชาวนา 27,000 รายทั่วประเทศ เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้การทำนาโดยปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ ซึ่งสามารถช่วยลดรอยเท้าคาร์บอน (Carbon Footprint) ได้เกือบ 40% สำหรับผลิตภัณฑ์ข้าวขาว และ 8% สำหรับข้าวหอมมะลิ
โครงการดังกล่าวเป็นการตอกย้ำให้เห็นว่าความร่วมมือระหว่างประเทศและการรณรงค์เพื่อต่อสู้กับสภาวะโลกร้อน เป็นกุญแจสำคัญในการนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง ด้วยเหตุนี้ เครือซีพีจึงได้ประสานความร่วมมือกับตัวแทนจากบริษัทชั้นนำของไทยกว่า 90 บริษัท ที่เป็นสมาชิกของ UN Global Compact ในประเทศไทย สร้างความเข้มแข็งให้กับเครือข่ายความร่วมมือทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม
“นวัตกรรมระหว่างประเทศ รวมไปถึงความร่วมมือกันผ่านโครงการต่างๆ ทำให้เราเชื่อว่าธุรกิจสามารถแบ่งปันประสบการณ์ในการสร้างสรรค์วิธีการแก้ปัญหาให้กับภารกิจที่ยิ่งใหญ่ได้ โดยเฉพาะการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในห่วงโซ่คุณค่า จำเป็นที่จะต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างองค์กร สถาบันทางการเงิน และภาครัฐในการจัดหาทุน การให้ความรู้และฝึกทักษะใหม่ๆ รวมไปถึงการมอบเทคโนโลยีในการช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อย และธุรกิจ SME เพื่อบรรลุเป้าหมายในการเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศ องค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ คือ กำลังสำคัญในการให้ความร่วมมือและสนับสนุนสตาร์ทอัพที่มุ่งเน้นพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาความยั่งยืนต่อไป”
“การผสานจุดแข็งของเราโดยมุ่งไปสู่ทุกระดับของอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร จะทำให้เรามีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จในการต่อสู้กับอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นภายในระยะเวลาอันสั้นตามที่ตั้งเป้าไว้” คุณศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวสรุป