เครือซีพี ชูนวัตกรรม “ธนาคารปู” จุดประกายอนาคตทะเลไทย สร้างแรงบันดาลใจแก่เด็กและเยาวชน ฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำ ในงานสัปดาห์วิทยาศาตร์ ประจำปี 2567 โรงเรียนชุมชนวัดเกาะเพชร จ.นครศรีธรรมราช

22 สิงหาคม 2567

เมื่อเร็วๆนี้ เครือเจริญโภคภัณฑ์ ร่วมสนับสนุนหน่วยงานภาคการศึกษา โรงเรียนชุมชนวัดเกาะเพชร จ.นครศรีธรรมราช ในงานสัปดาห์วิทยาศาตร์ ประจำปี 2567 ภายใต้ชื่องาน “โลกสีคราม วิทยาศาสตร์แห่งมหาสมุทร” พร้อมด้วย ภาคีเครือข่ายในพื้นที่ อาทิ ประมงจังหวัดนครศรีธรรมราช กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ที่ 5 เทศบาลตำบลเกาะเพชร สมาคมประมงพื้นบ้านหัวไทร มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช คณะครุศาสตร์ สาขาวิทยาศาสตร์ทั่วไป คณะครู นักเรียน นักศึกษาในพื้นที่ และกลุ่มธุรกิจในเครือซีพี ได้แก่ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF และ บริษัท ซีพี แอ็กซ์ตร้า จำกัด (มหาชน) ผู้ดำเนินธุรกิจห้างค้าปลีก โลตัส รวมกว่า 500 คน งานจัดขึ้น ณ โรงเรียนชุมชนวัดเกาะเพชร อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช

ภายในงาน เครือซีพี ร่วมนำนวัตกรรม “ธนาคารปู” จากการดำเนินโครงการด้านความยั่งยืนทางทะเล ผ่านนโยบาย “SEACOSYSTEM เพื่อทะเลไทยที่ยั่งยืน” มาร่วมจัดนิทรรศการให้ความรู้ และสร้างแรงบรรดาลใจแก่เด็กและเยาวชนที่มาร่วมงานสัปดาห์วิทยาศาตร์ ของโรงเรียนชุมชนวัดเกาะเพชร จ.นครศรีธรรมราช เพื่อปลูกฝังให้เห็นความสำคัญของทรัพยากรทางทะเล จุดประกายความคิดอย่างสร้างสรรค์ และสามารถต่อยอดแนวคิดและสิ่งใหม่ๆที่จะเป็นประโยชน์ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมได้ โดยนวัตกรรมดังกล่าวฯ ได้พัฒนาขึ้นเพื่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม ที่มุ่งเน้นการแก้ปัญหาการลดลงของทรัพยากรสัตว์น้ำ ด้วยแนวคิดการใช้นวัตกรรมมาช่วยเพิ่มสัตวน้ำในพื้นที่ เพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) พร้อมยังเป็นการส่งเสริมอาชีพรายได้และวิถีชีวิตของชุมชนประมงชายฝั่ง ให้สามารถมีแหล่งอาหารและสร้างอาชีพอย่างยั่งยืนได้ นอกจากนี้ เครือซีพี ยังร่วมเป็นกรรมการตัดสินในการแข่งขันทักษะทางวิทยาศาสตร์ในเรื่องทะเล ตามนโยบายที่ให้ความสำคัญด้านการศึกษา เพื่อให้เด็กและเยาวชนมีความรู้ความสามารถ พร้อมทั้งเข้ามามีบทบาทสำคัญในการอนุรักษ์และปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในอนาคตได้

ทั้งนี้ เครือซีพี ยังคงเดินหน้าขับเคลื่อนโครงการด้านความยั่งยืนทางทะเลอย่างต่อเนื่อง ตามหลักการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals หรือ 17 SDGS) ข้อที่ 14 การอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน โดยดำเนินงานครอบคลุมทั้งในอ่าวไทยและอันดามันของประเทศไทย รวม 10 จังหวัด ได้แก่ จันทบุรี ตราด สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา กระบี่ ตรัง สตูล ปัตตานี และนราธิวาส โดยมีเป้าหมายการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเล ควบคู่ไปกับการพัฒนาอาชีพประมงพื้นบ้าน ใช้เครื่องมือประมงที่เหมาะสม และเพิ่มรายได้ให้แก่ชุมชน สร้างสมดุล 3 มิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม อย่างยั่งยืน