ซีอีโอเครือซีพีขึ้นเวที THE STANDARD ECONOMIC FORUM 2024 เสนอมุมมองความกล้าที่จะปฏิรูปรูปการศึกษาไทย โดยอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วน ผลักดันสร้างทักษะเยาวชนให้พร้อมรับมือยุคดิจิทัล
เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2567 คุณศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ได้รับเกียรติเป็นวิทยากรพิเศษ ขึ้นกล่าวปาฐกถาในหัวข้อ “How to Reshape Thailand’s Education for the Future” บนเวที THE STANDARD ECONOMIC FORUM 2024 ฟอรัมเศรษฐกิจระดับชาติจัดขึ้น ณ พารากอน ฮอลล์ สยามพารากอน ภายใต้ธีม “BRAVE NEW WORLD เศรษฐกิจไทย ไล่กวดโลกใหม่” ระหว่างวันที่ 13-15 พฤศจิกายน งานนี้มีวิทยาการผู้เชี่ยวชาญทั้งในไทยและต่างประเทศกว่า 40 ท่านร่วมแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์เกี่ยวกับเทรนด์ใหม่ ๆ ที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทยในอนาคต พร้อมทั้งมีผู้แทนจากองค์กร นักวิชาการ และเยาวชนรุ่นใหม่เข้าร่วมฟังอย่างคึกคัก สะท้อนถึงความร่วมมือในการผลักดันการศึกษาเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน
บรรยากาศก่อนเริ่มเวทีเป็นไปอย่างอบอุ่นและเป็นกันเอง คุณศุภชัยได้แลกเปลี่ยนมุมมองกับคุณนครินทร์ วนกิจไพบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและบรรณาธิการบริหาร บริษัท เดอะสแตนดาร์ด จำกัด ทั้งสองได้พูดคุยถึงประเด็นที่เป็นประโยชน์หลากหลายด้าน เพื่อสร้างไอเดียใหม่ ๆ ในการพัฒนาประเทศ
เมื่อขึ้นเวที คุณศุภชัยได้หยิบยกถึงการจัดอันดับของ “IMD World Talent Ranking 2024” ซึ่งประเทศไทยอยู่ที่ลำดับ 47 จาก 67 ประเทศ และยังมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยย้ำว่า การศึกษาเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาประเทศ ท่ามกลางยุคที่เทคโนโลยีมีบทบาทในทุกภาคส่วน การปรับปรุงระบบการศึกษาให้ทันสมัยเป็นภารกิจเร่งด่วน ประเทศไทยจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับทรัพยากรมนุษย์ซึ่งเป็นหัวใจหลักของการพัฒนาประเทศ ทั้งนี้ยังนำเสนอแนวทาง SI Transformation Model สำหรับการปฏิรูปการศึกษาใน 5 มิติ ได้แก่ Transparency: ให้โรงเรียนมีการประเมินผลแบบ School Grading และชี้วัดผลสัมฤทธิ์ที่มุ่งพัฒนาศักยภาพผู้เรียน Market Mechanism: ส่งเสริมกลไกตลาดผ่านความร่วมมือทุกภาคส่วน รวมถึงสื่อที่มีคุณภาพ Leadership & Talents: ส่งเสริมบทบาทครูในฐานะโค้ช พร้อมทั้งเพิ่มค่าตอบแทน Child Centric / Empowerment: ส่งเสริมการเรียนรู้เชิงปฏิบัติแบบ Action-Based Learning และการตั้งคำถามด้วยตัวเอง และ Technology: เปิดโอกาสให้นักเรียนเข้าถึงเทคโนโลยีเพื่อส่งเสริมนวัตกรรม
นอกจากนี้ คุณศุภชัยได้เสนอแนวทาง 14 ข้อในการพัฒนาการศึกษาให้รองรับการเปลี่ยนแปลงในปี 2030 โดยมีรายละเอียดสำคัญดังนี้ 1) พัฒนาระบบบริหารจัดการโรงเรียนให้มีความโปร่งใส 2) กำหนดให้วิชาวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์เป็นวิชาบังคับในหลักสูตร 3) จัดหาอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่ปลอดภัยและพร้อมใช้งานสำหรับนักเรียนทุกคน 4) ปรับโรงเรียนทุกแห่งให้เป็น Learning Center 5) ปรับตัวชี้วัดของบุคลากรทางการศึกษาโดยเน้นผลสัมฤทธิ์ในด้านศักยภาพและคุณธรรมของเด็ก 6) ภาครัฐควรสนับสนุนผู้ผลิตเนื้อหาคุณภาพในช่วง Prime Time ด้วยการให้สิทธิประโยชน์ 7) เตรียมบุคลากรจำนวน 3 ล้านคนให้มีทักษะด้านดิจิทัล 8) ส่งเสริมการสร้างสตาร์ทอัพให้ได้ 20,000 รายภายในปี 2027 9) ปรับการสอนวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์โดยเน้นการค้นคว้า วิจัย และพัฒนา 10) ผลักดันมหาวิทยาลัยให้มุ่งเน้นการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และนวัตกรรม 11) สร้างความร่วมมือระหว่างโรงเรียนและมหาวิทยาลัยเพื่อพัฒนา ICT Talent ให้มีอยู่ในทุกโรงเรียน 12) ปรับเพิ่มค่าตอบแทนให้ครูเทียบเท่าวิชาชีพอื่น เช่น หมอและวิศวกร 13) สร้างผู้นำการเปลี่ยนแปลงในโรงเรียน ด้วยการพัฒนาผู้อำนวยการและครูใหญ่ 30,000 คนให้มีบทบาทเสมือนพ่อแม่คนที่สองของเด็ก และ 14) เปลี่ยนโรงเรียนให้เป็น “Smart School” ที่มีระบบรักษาความปลอดภัย พร้อมนำเทคโนโลยี AI มาช่วยเพิ่มศักยภาพการเรียนรู้
โดยมุ่งเน้นการปรับโครงสร้างและนโยบายที่โปร่งใส เช่น การบรรจุวิชาวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ให้เป็นวิชาบังคับ การจัดหาอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่เพียงพอและปลอดภัยสำหรับนักเรียน การพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะด้านดิจิทัล และการสนับสนุน Smart School ที่มีมาตรการรักษาความปลอดภัยและการใช้ AI เพื่อส่งเสริมศักยภาพการเรียนรู้ นอกจากนี้ยังมีการส่งเสริมให้โรงเรียนเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ (Learning Center) ยกระดับคุณภาพบุคลากรทางการศึกษา และปรับตัวให้พร้อมรับมือกับยุคเศรษฐกิจดิจิทัล
การปาฐกถาครั้งนี้ได้สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้เข้าร่วมงานเห็นถึงความจำเป็นของการศึกษาในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทย คุณศุภชัยได้กล่าวสรุปว่า “การปฏิรูปการศึกษาเป็นภารกิจของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และสังคม ซึ่งต้องร่วมมือกันเพื่อสร้างอนาคตที่ดียิ่งขึ้น” สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของซีอีโอเครือซีพีในการขับเคลื่อนการพัฒนาการศึกษาไทย ซึ่งถือเป็นรากฐานสำคัญในการสร้างเยาวชนที่มีทักษะและศักยภาพพร้อมรับมือกับอนาคตในยุคดิจิทัล