คุณศุภชัย เจียรวนนท์ ซีอีโอเครือซีพี แสดงวิสัยทัศน์ความยั่งยืนในงาน Sustainability Forum 2025 จัดโดยกรุงเทพธุรกิจ พร้อมผลักดันเป้าหมาย Net Zero และสร้างระบบเศรษฐกิจที่ทุกคนมีส่วนร่วม ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

กรุงเทพฯ 3 ธันวาคม 2567 – คุณศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้รับเกียรติร่วมเป็นวิทยากรในหัวข้อ The Collaboration for Sustainable Future ในงาน Sustainability Forum 2025: Synergizing for Driving Business ซึ่งจัดโดย กรุงเทพธุรกิจ ระหว่างวันที่ 3-4 ธันวาคม 2567 ณ พารากอน ฮอลล์ ชั้น 5 สยามพารากอน โดยเน้นย้ำถึงความสำคัญของ “ความร่วมมือเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน” พร้อมแบ่งปันแนวทางผลักดันเป้าหมาย Net Zero และสร้างระบบเศรษฐกิจที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยมี ดร.ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ ประธานคณะผู้บริหารด้านความยั่งยืนองค์กรและการพัฒนากลยุทธ์ คุณฐิติ ลุจินตานนท์ ประธานคณะผู้บริหาร กลุ่มธุรกิจการค้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ คุณสมเจตนา ภาสกานนท์ ผู้อำนวยการด้านพัฒนาความยั่งยืน คุณจอมกิตติ ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโสด้านพัฒนาความยั่งยืนภาครัฐและกิจการสัมพันธ์ ร่วมฟัง
งานนี้นับเป็นครั้งที่ 5 ติดต่อกันที่กรุงเทพธุรกิจจัดขึ้นเพื่อรวบรวมผู้นำองค์กร ผู้เชี่ยวชาญ และนักคิดจากหลากหลายภาคส่วน มาร่วมแบ่งปันมุมมองและแนวทางสู่ความยั่งยืน โดยภายในงานยังมีบุคคลสำคัญ อาทิ คุณพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งได้ร่วมกล่าวปาฐกถาในหัวข้อ Keynote: Financial Policies for Sustainable Economy พร้อมกับผู้นำจากหลากหลายองค์กรชั้นนำ อาทิ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA), การท่าเรือแห่งประเทศไทย, ธนาคารแห่งประเทศไทย (BOT), ธนาคารออมสิน, ปตท., ไทยออยล์, และบริษัทชั้นนำอย่าง Grab ประเทศไทย, WHA คอร์ปอเรชั่น รวมถึงองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมนี (GIZ)

คุณศุภชัย เจียรวนนท์ ได้แสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับสถานการณ์ความยั่งยืนในประเทศไทย โดยชี้ให้เห็นถึงความสำเร็จที่ไทยได้รับการจัดอันดับด้านความยั่งยืนเป็นอันดับ 1 ในอาเซียนต่อเนื่องถึง 7 ปี แต่ยังคงมีความท้าทายสำคัญที่ต้องเร่งแก้ไข ในระดับโลก การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ยังคงอยู่เพียง 17% และไม่ครอบคลุมทุกมิติ ทำให้สหประชาชาติเกิดการเรียกร้องให้เร่งขับเคลื่อนภายใต้แนวคิด “Forward Faster” หรือ “ไปให้เร็วขึ้น” โดยเน้น 5 ประเด็นสำคัญ: ความเท่าเทียมทางเพศ (Gender Equality): การสร้างสังคมที่ทุกคนเท่าเทียม ไม่ว่าจะเป็นชาย หญิง หรือกลุ่ม LGBTQ+ การจัดการสิ่งแวดล้อม (Decarbonization): การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ เศรษฐกิจที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง (Inclusive Economy): การกระจายโอกาสอย่างเป็นธรรมให้กับทุกภาคส่วน การเข้าถึงทรัพยากรน้ำสะอาด: เพื่อรองรับการดำรงชีวิตที่ยั่งยืน และ การลงทุนในเทคโนโลยีอนาคต: เช่น พลังงานสะอาด เทคโนโลยีดักจับคาร์บอน และไฮโดรเจนพลังงาน คุณศุภชัยยังเน้นว่า “เป้าหมายของ Net Zero ไม่ใช่เพียงแค่ความทะเยอทะยาน แต่คือภารกิจร่วมที่ทุกภาคส่วนต้องลงมือทำ” พร้อมชี้ว่าหนึ่งในประเด็นสำคัญ คือการดึงดูดเงินทุนกว่า 5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อสนับสนุนการบรรลุเป้าหมาย SDGs

พร้อมนำเสนอแนวคิด 3D Model ซึ่งเป็นกรอบแนวทางสำคัญในการขับเคลื่อนโลกสู่อนาคตที่ยั่งยืน โดยประกอบด้วย 3 องค์ประกอบหลัก ได้แก่ Digitalization: การขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล เศรษฐกิจดิจิทัลกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่ก็มาพร้อมกับความท้าทายด้านพลังงาน โดยเฉพาะการใช้พลังงานสะอาด เช่น ศูนย์ข้อมูล (Data Centers) ที่ต้องการพลังงานจำนวนมหาศาล ปัจจุบันประเทศไทยกลายเป็นจุดหมายใหม่ของการลงทุนศูนย์ข้อมูล หลังจากสิงคโปร์ประสบข้อจำกัดด้านพื้นที่และพลังงานสะอาด ส่งผลให้ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา ประเทศไทยได้รับการลงทุนเพิ่มขึ้นในอัตรา 1:1 คิดเป็นมูลค่ากว่า 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ คุณศุภชัยยังชี้ถึงบทบาทของพลังงานนิวเคลียร์ในฐานะแหล่งพลังงานสะอาดที่จำเป็นในอนาคต โดยตั้งคำถามสำคัญว่า “เราพร้อมหรือยังที่จะยอมรับพลังงานนิวเคลียร์ในฐานะแหล่งพลังงานสำคัญ ไม่ใช่เพื่อสงคราม แต่เพื่ออนาคตที่ยั่งยืน? Deglobalization: การเปลี่ยนแปลงห่วงโซ่อุปทานโลก แนวโน้มการลดการพึ่งพาจีนผ่านนโยบาย China +1 ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นจุดสนใจของนักลงทุนในหลากหลายอุตสาหกรรม เช่น สินค้าอุปโภคบริโภค ความมั่นคงทางอาหาร และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ นโยบายนี้สร้างโอกาสสำคัญสำหรับประเทศไทยในการยกระดับความสามารถทางเศรษฐกิจและสร้างความมั่นคงในระยะยาว และ Decarbonization: การลดการปล่อยคาร์บอน การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นความท้าทายสำคัญของมนุษยชาติ เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นายศุภชัยเตือนถึงสถานการณ์ที่น่ากังวล หากโลกร้อนขึ้น 3 องศาเซลเซียส อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นถึง 60 เมตร ซึ่งอาจทำให้ประชากรโลกกว่า 1,700 ล้านคนตกอยู่ในภาวะอดอยาก

เครือซีพีตั้งเป้าหมายบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Net Zero) ภายในปี 2050 แม้จะเผชิญความท้าทาย เช่น การปล่อยคาร์บอนเกินเป้าหมายในปี 2024 ถึง 0.5 ล้านตัน โดยได้เริ่มดำเนินการสำคัญ อาทิ โครงการปลูกป่า และการทดสอบพลังงานสะอาดในศูนย์ข้อมูล (Data Centers) เพื่อผลักดันเป้าหมายดังกล่าวให้สำเร็จ ในระหว่างนี้ เครือซีพียังได้ตั้งเป้าหมายสำคัญอีกประการ คือการลดการปล่อยคาร์บอนภายในปี 2030 ผ่านการส่งเสริมพลังงานหมุนเวียน การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และโครงการปลูกป่าที่เปิดโอกาสให้ทั้งองค์กรและชุมชนมีส่วนร่วม

คุณศุภชัย เจียรวนนท์ ได้กล่าวถึงความสำคัญของความรับผิดชอบร่วมกันในระดับสังคมและโลก พร้อมเรียกร้องให้ทุกภาคส่วนร่วมมือกัน โดยระบุว่า “เราจำเป็นต้องคิดและทำในระดับที่ใหญ่กว่าองค์กรของเรา มองถึงสังคมและโลกที่จะส่งต่อให้ลูกหลานของเรา“คุณศุภชัยยังย้ำถึงบทบาทสำคัญของพนักงานในองค์กรในการขับเคลื่อนความยั่งยืน โดยเน้นว่าการเปลี่ยนแปลงเริ่มต้นจากการกระทำเล็ก ๆ ในชีวิตประจำวัน และขยายผลสู่ระดับสังคม “การขับเคลื่อนความยั่งยืนเริ่มต้นจากจุดเล็ก ๆ ที่เราทำในชีวิตประจำวัน ก่อนจะส่งผลต่อสังคมในวงกว้าง ทุกคนในเครือเจริญโภคภัณฑ์คือพลังสำคัญในเส้นทางนี้”
คุณศุภชัยสรุปว่า การเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจสู่ดิจิทัลจะเพิ่มความต้องการใช้พลังงานมากขึ้นอย่างมหาศาล ซึ่งการบรรลุเป้าหมาย Net Zero จะไม่ใช่เพียงเป้าหมายขององค์กรใดองค์กรหนึ่ง แต่เป็นความรับผิดชอบร่วมกันของทุกคนในโลก Net Zero ไม่ใช่แค่เป้าหมาย แต่คือความรับผิดชอบร่วมกันของทั้งโลก

คุณพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี เยี่ยมชมบูธนิทรรศการของเครือเจริญโภคภัณฑ์
ในงานนี้ เครือซีพียังได้จัดแสดงนิทรรศการ “Sustainable Innovation: Traceability for a Better Tomorrow” หรือ “นวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน: ระบบตรวจสอบย้อนกลับเพื่ออนาคตที่ดีกว่า” สะท้อนถึงความมุ่งมั่นในการยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ด้วยเทคโนโลยีล้ำสมัย โดยหัวใจสำคัญของนิทรรศการ คือ ระบบตรวจสอบย้อนกลับ ที่พัฒนาโดย บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โปรดิ๊วส จำกัด (CPP) และ บริษัท กรุงเทพโปรดิ๊วส จำกัด (มหาชน) (BKP) โดยนำเทคโนโลยี Blockchain และ ภาพถ่ายดาวเทียม มาใช้ในกระบวนการผลิต สร้างความโปร่งใสในทุกขั้นตอน พร้อมยกระดับห่วงโซ่อุปทานให้สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน สะท้อนถึง วิสัยทัศน์ของเครือซีพี ในการเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อสร้าง “อาหารคน อาหารสมอง และโอกาสในการเข้าถึงคุณค่า เพื่อสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีสำหรับทุกคน”

นอกจากนี้ เครือเจริญโภคภัณฑ์ยังเน้นย้ำถึงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมผ่านนโยบายที่ชัดเจนว่า “ไม่รับซื้อและไม่นำเข้าผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากพื้นที่รุกล้ำป่าและพื้นที่ที่มาจากการเผา” เพื่อให้มั่นใจว่าผลผลิตของเครือฯ ปราศจากผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมสนับสนุนการอนุรักษ์ระบบนิเวศอย่างยั่งยืนในทุกมิติ

นิทรรศการครั้งนี้ถือเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญที่ตอกย้ำความตั้งใจของเครือเจริญโภคภัณฑ์ในการสร้างอนาคตที่ดีกว่าและยั่งยืนสำหรับทุกคน พร้อมทั้งตอกย้ำบทบาทในฐานะผู้นำด้านความยั่งยืนระดับโลกที่มุ่งมั่นสร้างสังคมและสิ่งแวดล้อมที่มั่นคงเพื่อคนรุ่นปัจจุบันและอนาคต



