ผู้นำด้านความยั่งยืนจากทั่วโลกรวมพลังลดโลกร้อนบนเวที “UN Global Compact Leaders Summit 2021” ด้านซีอีโอจากประเทศไทย “ศุภชัย เจียรวนนท์” แห่งเครือซีพี ประกาศความมุ่งมั่นนำธุรกิจทั้งองคาพยพสู่การเป็นองค์กรคาร์บอนเป็นศูนย์
ผู้นำด้านความยั่งยืนจากทั่วโลกรวมพลังลดโลกร้อนบนเวที “UN Global Compact Leaders Summit 2021” ชวนทุกภาคส่วนร่วมปฏิบัติการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายในปี 2030 ด้านซีอีโอจากประเทศไทย “ศุภชัย เจียรวนนท์” แห่งเครือซีพี ประกาศความมุ่งมั่นนำธุรกิจทั้งองคาพยพสู่การเป็นองค์กรคาร์บอนเป็นศูนย์ รวมพลังพนักงาน 4.5 แสนคนทั่วโลก พร้อมห่วงโซ่อุปทาน ไม่ว่าเกษตรกร คู่ค้า ไปสู่เป้าหมายเดียวกัน เสนอให้ตลาดหลักทรัพย์ในทุกประเทศทั่วโลกกำหนดเป้าหมายและแนวทางให้องค์กรธุรกิจรายงานข้อมูลก๊าซเรือนกระจก เพื่อให้โลกบรรลุเป้าหมายลดโลกร้อน
นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) และนายกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย เข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำระดับโลกด้านความยั่งยืน ประจำปี 2564 หรือ UN Global Compact Leaders Summit 2021 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 15-16 มิถุนายน 2564 ซึ่งในปีนี้จัดขึ้นในรูปแบบเสมือนจริงผ่านออนไลน์ถ่ายทอดสดจากมหานครนิวยอร์ค ประเทศสหรัฐอเมริกาไปยังทั่วโลก โดยมีผู้ร่วมการประชุมไม่ต่ำกว่า 25,000 คน โดยในปีนี้ UN Global Compact ซึ่งเป็นเครือข่ายความยั่งยืนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกภายใต้องค์กรสหประชาชาติได้ชูประเด็นการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศเป็นวาระสำคัญของโลก
นายอันโตนิโอ กูแทเรส เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ กล่าวเปิดการประชุม UN Global Compact Leaders Summit 2021 โดยระบุว่า เราทุกคนพร้อมสนับสนุนแผนการดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมาย SDGs และเพื่อให้เป็นไปตามข้อตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยองค์กรธุรกิจต่าง ๆ มารวมตัวกันครั้งนี้เพื่อแสดงให้เห็นถึงความพร้อมที่จะร่วมแสดงความรับผิดชอบและเดินหน้าลงมือในภารกิจการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ด้วยวิธีการต่าง ๆ ที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด นอกจากนี้ขอย้ำว่าองค์กรธุรกิจจะต้องบูรณาการในเรื่องการลงทุน การสร้างพันธมิตรทางธุรกิจต่าง ๆ ที่ควบคู่ไปกับการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน และคำนึงถึง ESG (Environmental, Social, Governance)
ขณะที่นางสาวแซนด้า โอเจียมโบ ซีอีโอและผู้อำนวยการบริหาร UN Global Compact กล่าวว่า จากปัญหาโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบทั่วโลก UNGC มีความห่วงใยในประเด็นเรื่องความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการขาดแคลนวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 โดยมีหลายประเทศที่ไม่สามารถเข้าถึงการรับวัคซีนได้ ตลอดจนปัญหาการว่างงาน โดยเฉพาะในกลุ่มสตรีวัยทำงานที่ต้องถูกเลิกจ้างจากสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งการประชุมครั้งนี้ทุกภาคส่วนจะได้ร่วมกันแสวงหาแนวทางที่จะสร้างการมีส่วนร่วม และระดมแนวทางแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำจากผลกระทบโควิด-19 อย่างจริงจัง
ทั้งนี้นายศุภชัย เจียรวนนท์ ซีอีโอ เครือซีพี ได้ร่วมการประชุม UN Global Compact Leaders Summit 2021 และได้ร่วมแบ่งปันวิสัยทัศน์บนเวทีเสวนาหลัก (Main Stage Plenary) ในหัวข้อ“Light the Way to Glasgow and Net Zero: Credible Climate Action for a 1.5 °C World” หรือ“มุ่งหน้าสู่การประชุม COP26 Glasgow และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ : แนวทางปฏิบัติเพื่อควบคุมภาวะโลกร้อนให้อยู่ในขอบเขต 1.5 องศาเซลเซียส” โดยมีผู้ร่วมเสวนา ประกอบด้วยนายคีธ แอนเดอร์สัน ซีอีโอจากบริษัทพลังงาน Scottish Powerน.ส.ดามิลโอลา โอกันบียี ซีอีโอจากองค์กร Sustainable Energy for All (SEforALL) และผู้แทนพิเศษเลขาสหประชาชาติด้านพลังงานความยั่งยืน และน.ส.กราเซียเอลา ชาลุปเป้ ดอส ซานโตส มาลูเซลลิ ซีโอโอและรองประธานบริษัท Novozymes ซึ่งดำเนินธุรกิจด้านไบโอเทคโนโลยี ประเทศเดนมาร์ก โดยได้รับเกียรติจากนายกอนซาโล มูนโญส Chile COP25 High Level Climate Champion และนายไนเจล ทอปปิง UN's High-Level Climate Action Champion ซึ่งเป็นแชมเปี้ยนในเรื่อง Climate Change ระดับโลก ร่วมเป็นผู้กล่าวนำเสวนา
นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ ซีพี ระบุว่า เครือซีพีมีความมุ่งมั่นสู่การนำธุรกิจในเครือฯบรรลุสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2030 สอดคล้องกับเป้าหมายของโลกทั้งการประชุมผู้นำโลก COP26 ที่เมืองกลาสโกว์ ประเทศสก๊อตแลนด์ที่จะมีขึ้นในเดือน พ.ย.2564 ที่จะเจรจาเรื่องลดโลกร้อน พิธีสารเกียวโตและความตกลงปารีส (Paris Agreement) รวมถึงแคมเปญระดับโลก Race to Zero ปฏิบัติการแข่งขันเพื่อคาร์บอนเป็นศูนย์ ซึ่งมีเป้าหมายร่วมกันคือการควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส
ซีอีโอเครือซีพี กล่าวว่า การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิของโลกถือเป็นประเด็นสำคัญ และในฐานะซีพี ที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับเกษตรและอาหาร มีห่วงโซ่อุปทานที่ต้องทำงานกับคู่ค้า เกษตรกร และผู้มีส่วนได้เสียมากมายหลากหลายกลุ่ม รวมถึงพนักงานกว่า 450,000 จากทั่วโลก ในการนี้ทุกคนได้รวมพลังเป็นหนึ่งเดียวกันเพื่อให้บรรลุเป้าหมายลดโลกร้อน โดยมีเทคโนโลยีทั้ง IOT, บล็อกเชน, GPS และ ระบบการตรวจสอบย้อนกลับ หรือ Traceability เข้ามาใช้เพื่อนำไปสู่เป้าหมายร่วมกัน และเชื่อมั่นว่าการสร้างระบบอาหารและเกษตรที่ยั่งยืนจะเป็นสิ่งสำคัญในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้สำเร็จ
ในส่วนของเครือซีพีนั้น มีนโยบายเพิ่มพื้นที่ป่าด้วยการลงมือปลูกต้นไม้ให้เพิ่มขึ้นเพื่อช่วยลดอุณหภูมิของโลก เพื่อให้ครอบคลุมการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอุตสาหกรรมของเรา ขณะเดียวกันซีพียังขับเคลื่อนเป้าหมายความยั่งยืนร่วมกับเกษตรกรกว่า 1 ล้านคน และคู่ค้าอีกนับแสนราย ทั้งยังมีการส่งเสริมให้เกษตรกรฟื้นฟูป่าในพื้นที่เขาหัวโล้นในภาคเหนือของไทยและหันมาทำเกษตรแบบผสมผสานรวมทั้งปลูกต้นไม้เพิ่มพื้นที่ให้ป่าอย่างต่อเนื่อง โดยทั้งหมดนี้เพื่อบรรลุสู่เป้าหมายการเป็นองค์กรที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ให้ได้ อีกหนึ่งเป้าหมายที่สำคัญของเครือซีพีคือ การวางระบบเพื่อประหยัดพลังงานและใช้แหล่งพลังงานหมุนเวียนต่าง ๆ ในการดำเนินธุรกิจ โดยจะลงทุนในพลังงานหมุนเวียน ซึ่งการลงทุนนี้ถือเป็นโอกาสไม่ใช่ต้นทุนทางธุรกิจ พร้อมกันนี้ได้เสนอให้ตลาดหลักทรัพย์ในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกออกกฎเกณฑ์ กำหนดให้บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และภาคเอกชนทั่วโลกภายใต้การกำกับดูแลของตลาดหลักทรัพย์ของประเทศนั้น ๆ กำหนดเป้าหมายและมีการจัดทำรายงานผลการดำเนินงานด้านการจัดการคาร์บอนฯ เพื่อทำให้ทุกภาคส่วนตระหนักถึงความสำคัญ ซึ่งจะผลักดันส่งเสริมผู้ประกอบการรายอื่น ๆ ได้ปฏิบัติตามก็จะทำให้โลกบรรลุเป้าหมายลดโลกร้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
อีกประเด็นสำคัญที่ซีอีโอ เครือซีพี กล่าวบนเวทีระดับโลก เพื่อนำสู่เป้าหมายลดโลกร้อนคือ “สิ่งสำคัญที่จะทำให้โลกยั่งยืนได้คือการสร้างคนรุ่นใหม่ขึ้นมา เราต้องยกระดับการศึกษาให้ไปไกลกว่า 4.0 ไม่ใช่แค่ให้ความรู้ทักษะด้านเทคโนโลยีดิจิทัลเท่านั้น แต่ต้องให้การศึกษาและความรู้เรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนกับเยาวชนคนรุ่นใหม่ตั้งแต่ยังเยาว์วัยจะทำให้การมุ่งหน้าไปสู่เป้าหมายลดโลกร้อนสำเร็จได้ เพราะคนรุ่นใหม่จะเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนและเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้” ซีอีโอเครือซีพีกล่าวสรุป
ด้านนายกอนซาโล มูนโญส Chile COP25 High Level Climate Champion กล่าวว่า ปีนี้โลกได้รับผลกระทบอย่างหนักจากสถานการณ์โควิด-19 แต่ในขณะเดียวกันปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังคงเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญอย่างมาก ปัจจุบันมีผู้ที่ร่วมแคมเปญปฏิบัติการ Race to Zero กว่า 4,500 ราย จาก 90 ประเทศทั่วโลก รวมทั้งองค์กรธุรกิจกว่า 3,000 แห่ง นับเป็น 15% ของเศรษฐกิจโลก ถือได้ว่า เป็นแคมเปญที่เติบโตอย่างรวดเร็วในปีที่ผ่านมา
สำหรับนายไนเจล ทอปปิง UN’s High-Level Climate Action Champion กล่าวถึง ความท้าทายของ 10 ปีข้างหน้าสู่การที่ผู้นำด้านความยั่งยืนจากทุกภาคส่วนจะต้องลงมือทำคือการร่วมกันลดภาวะโลกร้อนด้วยการตั้งเป้าหมายในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลงครึ่งหนึ่งให้ได้ในปี 2030 โดยการจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนับเป็นความท้าทายที่เชื่อมโยงทั้งในมิติด้านของการสื่อสาร การเมือง รวมไปถึงความท้าทายทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่ทุกภาคส่วนจะต้องเร่งร่วมมือกันลงมือปฏิบัติการลดคาร์บอนเป็นศูนย์ เพื่อแก้ปัญหาโลกร้อน
ในส่วนของนางสาวดามิลโอลา โอกันบียี ซีอีโอจากองค์กร Sustainable Energy for All (SEforALL) กล่าวว่า ขณะนี้ทุกภาคส่วนสนับสนุนให้มีการเจรจาเรื่องการจัดการด้านพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมองว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและทรัพยากรด้านพลังงานเป็นสิ่งที่จะต้องดำเนินการไปควบคู่กัน และจะต้องให้ความสำคัญในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา สนับสนุนให้ประเทศเหล่านี้บริหารจัดการพลังงานไปสู่การสร้างพลังงานสีเขียวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
นายคีธ แอนเดอร์สัน ซีอีโอจากบริษัทพลังงาน Scottish Power กล่าวถึงการดำเนินงานของ Scottish Power บริษัทที่ผลิตถ่านหิน ซึ่งปัจจุบันเลิกใช้ถ่านหินทั่วทั้งสกอตแลนด์ และเปลี่ยนไปใช้พลังงานหมุนเวียน เพื่อลดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยในสกอตแลนด์มีการใช้พลังงานไฟฟ้าหมุนเวียน ถึง 97% ทุกกิจกรรมไม่ว่าจะป็นการขนส่ง และใช้พลังงานในอาคารจะต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และตั้งเป้าให้เมือง Glassgow เป็นเมืองคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์แห่งแรกในสหราชอาณาจักร
นางสาวกราเซียล่า ชาลูป โดส ซานโตส มาลูเชลลี่ ซีโอโอและรองประธาน บริษัทไบโอเทคโนโลยี Novozymes กล่าวว่า Novozyme ได้มีการลงทุนทางด้านพลังงานหมุนเวียน เช่น การนำพลังงานแสงอาทิตย์มาปรับใช้เป็นพลังงานไฟฟ้า โดยเป็นการทำงานร่วมกับคู่ค้า ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตลอดห่วงโซ่อุปทานเป็นกรณีตัวอย่างในการทำงานร่วมกันเพื่อหาแนวทางการลดคาร์บอนให้ได้มากที่สุด
ขณะที่นายอโลก ชาร์มา ประธาน COP 26 กล่าวปิดสรุปการเสวนาว่า ในปี 2015 เป็นปีที่สำคัญเป็นจุดเริ่มต้นที่ได้ทำข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยกำหนดเป้าหมายลดอุณหภูมิโลก 1.5 องศาเซลเซียส เพราะหากโลกเข้าสู่ภาวะโลกร้อนแตะถึง 2 องศา ผู้คนกว่า 100 ล้านคนจะได้รับผลกระทบ พืชและสัตว์หลายชนิดจะสูญพันธุ์ ซึ่งในการประชุมสุดยอดผู้นำระดับโลกด้านความยั่งยืนครั้งนี้ ขอขอบคุณ UNGC ที่ขับเคลื่อนให้ภาคธุรกิจให้คำมั่นในข้อตกปารีส และขอเชิญชวนผู้นำองค์กรทุกภาคส่วนเข้าร่วมแคมเปญ Race to ZERO ซึ่งจะเป็นการแสดงให้เป็นที่ประจักษ์กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนได้เห็นถึงความตั้งใจและความมุ่งมั่นที่ภาคธุรกิจรวมพลังลุกขึ้้นมาให้ความสำคัญกับปัญหาภาวะโลกร้อน
การประชุม UN Global Compact Leaders Summit 2021 ระหว่างวันที่ 15-16 มิถุนายน 2564 เป็นการรวมตัวของผู้นำภาคส่วนต่าง ๆ รวมทั้งจากภาคธุรกิจชั้นนำในหลายประเทศทั่วโลก อาทิ เครือเจริญโภคภัณฑ์, ยูนิลีเวอร์, ชไนเดอร์ อิเล็คทริค, ลอรีอัล, เนสท์เล่, หัวเว่ย, อิเกีย, ซีเมนส์ เอจี ตลอดจนผู้บริหารจากบริษัทที่ปรึกษา บอสตัน คอนซัลท์ติ้ง กรุ๊ป , ผู้บริหารจากบริษัทกฎหมาย และการจัดการทางธุรกิจระดับโลก เบเคอร์ แอนด์ แม็คเคนซี่ โดยได้รับเกียรติจากนายอันโตนิโอ กูแทเรส เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ และนางสาวแซนด้า โอเจียมโบ ซีอีโอและผู้อำนวยการบริหาร UN Global Compact ร่วมกล่าวเปิดงานประชุมอย่างเป็นทางการ