เจียไต๋ เดินหน้าสร้างความมั่นคงทางอาหาร ร่วมเปลี่ยนดาดฟ้าสู่สวนผักในเมือง บรรเทาผลกระทบโควิด-19
กรุงเทพฯ 18 มกราคม 2565 - ภายในเมืองที่เต็มไปด้วยตึกระฟ้า การมองหาพื้นที่สีเขียวเพื่อเพาะปลูกอาจจะไม่ใช่เรื่องง่าย แต่สำหรับโครงการแม่บ้านสร้างสุข โดยคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นเรื่องที่ทำสำเร็จได้ จากมุมมองความคิดที่ว่า แม้มีเพียงมุมเล็กๆ ที่แสงแดดส่องถึง ก็สามารถดัดแปลงเพื่อปลูกผัก สร้างประโยชน์แก่ส่วนรวมได้แล้ว
บริษัท เจียไต๋ จำกัด ผู้นำธุรกิจนวัตกรรมการเกษตรของไทย ภายใต้โครงการเจียไต๋ ปันน้ำใจ สู่ชุมชน ได้สนับสนุนและส่งเสริมการสร้างสวนผักในเมืองให้กับกลุ่มชุมชนต่างๆ เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร และให้ผู้คนสามารถเข้าถึงแหล่งอาหารที่สดสะอาดปลอดภัย ทั้งยังช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายภายใต้สถานการณ์วิกฤตโควิด-19 โดยครั้งนี้ เจียไต๋ได้ส่งมอบเมล็ดพันธุ์พืชผักสวนครัวที่ปลูกได้ง่ายและเป็นที่นิยมรับประทาน เช่น คะน้ายอด ผักบุ้งจีนเรียวไผ่ กะเพรา แมงลัก คื่นฉ่าย ถั่วฝักยาว-ถั่วเส้น กวางตุ้ง ข้าวโพดหวาน พริกขี้หนู และบวบเหลี่ยม ให้กับคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยมีรองศาสตราจารย์ ดร. ชะนวนทอง ธนสุกาญจน์ คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ และผู้จัดการโครงการย่านนวัตกรรมโยธี พร้อมด้วยรองศาสตราจารย์ ดร. มณฑา เก่งการพานิช หัวหน้าภาควิชาสุขศึกษาและพฤติกรรมศาสตร์ เป็นผู้รับมอบ เพื่อร่วมดำเนินโครงการแม่บ้านสร้างสุขที่สนับสนุนโดย สสส. ร่วมกันเปลี่ยนพื้นที่โล่งบนดาดฟ้าภายในคณะให้กลายเป็นสวนผักในเมืองและเป็นพื้นที่ที่ได้รวมพลังกลุ่มบุคลากร เจ้าหน้าที่ และแม่บ้านของคณะ ร่วมมือร่วมใจปลูกพืชผักสวนครัวเพื่อนำไปแจกจ่ายให้แก่กัน ซึ่งตลอดช่วงปีที่ผ่านมาตั้งแต่เริ่มดำเนินโครงการ กลุ่มแม่บ้านและเจ้าหน้าที่สามารถเก็บเกี่ยวผลิตผลที่สด สะอาด และปลอดภัยไปรับประทาน ซึ่งช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย และยังช่วยบรรเทาความเดือดร้อนจากวิกฤตโควิด-19 จากพื้นที่โล่งบนดาดฟ้าของคณะ ได้กลายเป็นสวนผักในเมือง แหล่งอาหารที่สมบูรณ์ของกลุ่มแม่บ้านและเจ้าหน้าที่ สร้างรอยยิ้ม เติมความสุขในภาวะวิกฤต
นอกจากนี้ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ยังได้ขยายประโยชน์ด้วยการกระจายเมล็ดพันธุ์เจียไต๋ไปสู่ชุมชนอื่นๆ ในเครือข่าย ได้แก่ โครงการปลูกผักทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด อาทิ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย กำแพงเพชร เพชรบูรณ์ สิงห์บุรี นครราชสีมา บุรีรัมย์ อุดรธานี อุบลราชธานี และสุราษฎร์ธานี เป็นต้น โดยมุ่งส่งเสริมให้ผู้ที่มีรายได้น้อยที่อาศัยในเมืองและต่างจังหวัด ได้ร่วมกันปลูกผักสวนครัวในพื้นที่ชุมชนตนเอง เพื่อนำไปรับประทานในครัวเรือน ซึ่งช่วยลดรายจ่าย และให้ชุมชนเข้าถึงแหล่งอาหารที่สมบูรณ์ รวมไปถึงโครงการผลิตและบริโภคผักและผลไม้ปลอดภัยเพื่อสุขภาวะและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่องที่ขยายวงกว้างไปสู่ชุมชนและโรงเรียน
นับว่าเป็นอีกหนึ่งโครงการที่ได้ผสานความร่วมมือร่วมใจระหว่างองค์กร หน่วยงานการศึกษา และชุมชน เพื่อสร้างประโยชน์ให้แก่สังคมวงกว้าง โดยเฉพาะภายใต้ภาวะวิกฤตที่เราต่างต้องเดินหน้าต่อไปด้วยกัน เจียไต๋ ขอร่วมส่งกำลังใจและเป็นอีกหนึ่งพลังที่จะสร้างสรรค์คุณค่าที่ดีแก่สังคม ตามเจตนารมณ์ในการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน ผ่านการส่งมอบนวัตกรรมเกษตรด้วยผลิตภัณฑ์และบริการที่มีคุณภาพ